xs
xsm
sm
md
lg

อึ้ง! หน้าหนาวอย่าปล่อยอุณหภูมิร่างกายต่ำ เสี่ยงพูดไม่รู้เรื่อง-สับสน-ตาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หมอเตือนอย่าปล่อยให้อุณหภูมิร่างกายต่ำ เสี่ยงระบบเผาผลาญหยุดทำงาน เกิดภาวะสับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง เลอะเลือน คุมตัวเองไม่ได้ ถึงขั้นเสียชีวิต เพราะออกซิเจนไม่ไปเลี้ยงสมอง แนะ 6 วิธีป้องกันอุณหภูมิร่างกายลดลง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงฤดูหนาวอาจเกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ (Hypothermia) โดยทั่วไปมักเริ่มด้วยอาการหนาวเย็น สั่น อ่อนเพลีย มึนงง ผิวซีด ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง หายใจเต้นผิดปกติ และไตวาย หากอุณหภูมิต่ำลง หรือ หนาวมากๆ ทำให้กระบวนการเผาผลาญอาหารลดลงหรือหยุดทำงาน ร้อยละ 20-50 ของผู้ป่วยอาจเกิดภาวะสับสน พูดเลอะเลือน ต่อต้าน ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และถอดเสื้อผ้าออก ขณะที่อาการหนาวเย็น ซึ่งบางครั้งเราอาจเห็น ผู้ป่วยไม่สวมเครื่องนุ่งห่ม ทั้งๆ ที่มีเครื่องห่มกันหนาวที่เพียงพอ

นพ.โสภณ กล่าวอีกว่า การรักษาดูแลผู้ป่วยภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ แบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ 1.ระดับน้อย รู้สึกหนาวเย็น มือชา และเริ่มหนาวสั่น รักษาโดยให้ความอบอุ่น ห่มผ้าให้เพียงพอกับความหนาวเย็น รับประทานอาหารที่ให้พลังงาน และดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ ให้เพียงพอต่อร่างกาย หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ และเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ 2.ระดับปานกลาง จะมีอาการหนาวสั่นมากขึ้น กล้ามเนื้อทำงานไม่ประสานกัน การเคลื่อนไหวช้าลง สับสน พูดลำบาก ความจำเสื่อม ซึม ผิวหนังซีดเย็น อาจต้องนำส่งโรงพยาบาล และรักษาโดยการใช้ลมร้อนเป่าหรือห่มด้วยผ้าห่มไฟฟ้า และ 3.ระดับรุนแรง จะมีอาการหยุดหนาวสั่น ผิวหนังคล้ำ บวม กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถเดินได้ สับสนควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่รู้สึกตัว หมดสติ การเต้นของหัวใจ และการหายใจผิดปกติ ระยะนี้ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตได้ง่าย จากการขาดเลือด และออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล เพื่อให้การรักษาร่วมกับการช่วยเหลือแบบฟื้นคืนชีพ

นพ.โสภณ กล่าวด้วยว่า การป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายต่ำ สามารถทำได้ ดังนี้ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศหนาวเย็น และรักษาความอบอุ่นของร่างกาย โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กเล็ก และผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี ขึ้นไป รวมทั้งผู้ที่มีโรคเรื้อรัง 2.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อคลายความหนาว เพราะจะทำให้เส้นเลือดขยายตัวมากขึ้น เกิดการสูญเสียความร้อนจากผิวหนังอย่างรวดเร็วเป็นผลให้เกิดอุณหภูมิร่างกายต่ำได้ง่าย จึงมักพบการเสียชีวิตจากภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำ ในคนที่มีประวัติการดื่มสุราเป็นประจำ 3.ออกกำลังอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น

4.ผู้ป่วยที่มีประวัติโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ระบบทางเดินลมหายใจ โรคขาดอาหาร โรคข้ออักเสบอย่างรุนแรง การบาดเจ็บแผลไฟไหม้ ที่อาจมีผลต่อประสาทรับความรู้สึก หรือการสูญเสียน้ำได้ง่าย ควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศหนาวเย็น 5.การรับประทานอาหารอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะอาหารที่ให้พลังงาน เช่น แป้ง และไขมัน ดื่มเครื่องดื่มร้อนๆ เช่น นมร้อน น้ำอุ่นๆ หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มผสม กาเฟอีน เพราะกาเฟอีน มีผลให้ร่างกายขับปัสสาวะมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำมากขึ้น และ 6.หาเครื่องนุ่งห่มกันหนาวให้เพียงพอ สวมหลายๆ ชั้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น