xs
xsm
sm
md
lg

จี้ สธ.เช็กบิลปั๊มแก๊ส 12 เส้นทางหลัก ฝ่าฝืนกฎหมายขายเหล้าแบบโจ๋งครึ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครื่อข่ายเยาวชนจี้ สธ.คุมปั๊มแก๊สหลังพบลักลอบขายเหล้าจำนวนมาก แนะควรออกกฎหมายควบคุมห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ ชี้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้โดยสาร

วันนี้ (20 ธ.ค.) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ พร้อมด้วยเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ กว่า 30 คน นำหลักฐานยื่นต่อ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรียกร้องให้เร่งเอาผิดกับปั๊มแก๊สที่ฝ่าฝืนกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 และพิจารณาให้เร่งออกกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟ และสถานีรถไฟ

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า เครือข่ายเยาวชนฯลงพื้นที่สำรวจร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง (ปั๊มแก๊ส) ในถนนสายหลักทั่วกรุงเทพฯ 12 เส้นทาง ได้แก่ วิภาวดี-รังสิต รามอินทรา นวมินทร์ สายไหม ลาดพร้าว รามคำแหง เสรีไทย สุวินทวงศ์ พหลโยธิน-ลำลูกกา วัชรพล จรัญสนิทวงศ์ วงศ์สว่าง พบว่า มีทั้งสิ้น 78 สถานี มีร้านค้าในปั๊ม 39 แห่ง ในจำนวนนี้ฝ่าฝืนกฎหมายลักลอบจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 12 ร้าน โดยลักษณะเป็นการแช่ในตู้และถังน้ำแข็ง ส่วนกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ได้แก่ แท็กซี่ รถยนต์ส่วนบุคคล รถตู้ รถบรรทุก ดื่มเบียร์ระหว่างรอเติมแก๊สจนกลายเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 มาตรา 27(6) ที่ระบุว่า ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง หรือร้านค้าในบริเวณสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และในมาตรา 31(5) ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งทั้งสองมาตรามีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้เครือข่ายเยาวชนฯยังพบปัญหาจากคนเมาสุราที่สร้างความเดือดร้อนรำคาญต่อผู้โดยสารรถไฟ โดยลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของผู้โดยสารรถไฟที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ระหว่างวันที่ 3-10 ธ.ค.2556 ต่อปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟในพื้นที่สถานีหัวลำโพง สามเสน บางเขน บางซื่อ หลักสี่ ธนบุรี ลาดกระบัง หัวหมาก จำนวน 1,160 ตัวอย่าง พบว่า 85.95% เห็นว่าการขายและดื่มสุราบนรถไฟเป็นปัญหาใหญ่และส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้โดยสาร ส่วน 44.23% เห็นว่าเสียงดังรบกวนสร้างความรำคาญ 29.31% เห็นว่าเป็นสาเหตุของการทะเลาะวิวาท 10.60% เห็นว่าเป็นสาเหตุของอุบัติเหตุ ส่วนอีก 8.45% เห็นว่าเป็นสาเหตุของการลวนลาม คุกคามทางเพศ และ7.41% เห็นว่าเป็นสาเหตุของการลักขโมย โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือ93.53% เห็นด้วยหากมีการออกกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มสุราบนรถไฟ เพราะจะช่วยให้ผู้โดยสารมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น และกลุ่มตัวอย่าง 86.03% เห็นด้วยหากกฎหมายนี้จะครอบคลุมไปถึงบริเวณสถานีรถไฟ

นายธีรภัทร์ กล่าวว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางเครือข่ายเยาวชนฯขอเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุม กระทรวงสาธารณสุข นำข้อเสนอไปพิจารณาดังต่อไปนี้ 1.ขอให้ดำเนินการตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมายของสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง (ปั๊มแก๊ส) และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ทั้งนี้เพื่อป้องกันปัญหาการกระผิดกฎหมายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2.ขอให้เร่งพิจารณาออกมาตรการ ห้ามขาย ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนรถไฟและสถานีรถไฟ ซึ่งสามารถออกเป็นประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี อาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551

เจตนาของกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มสุราในปั๊มน้ำมันและปั๊มแก๊ส ถือเป็นมาตรการสำคัญ ช่วยจำกัดการเข้าถึง และป้องกันอุบัติเหตุขณะเดินทาง ยิ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ผู้คนหลั่งไหลกลับภูมิลำเนาและเดินทางท่องเที่ยว หากยังมีพฤติกรรมการดื่มการขายในปั๊มโดยไม่เกรงกลัวกฎหมาย ก็เท่ากับเป็นการซ้ำเติมยอดอุบัติเหตุเจ็บตาย จึงวอนขอให้ปั๊มแก๊สทั่วประเทศปฏิบัติตามกฎหมายด้วย” นายธีรภัทร์ กล่าว

จากนั้น นพ.โสภณ กล่าวภายหลังรับเรื่องร้องเรียน ว่า ในส่วนของการลักลอบจำหน่ายแอลกอฮอล์ในปั๊มแก๊ส ซึ่งผิดกฎหมายชัดเจน ทางกรมจะรับไปดำเนินการและตรวจสอบเอาผิดทันที ส่วนการที่เครือข่ายเยาวชนฯให้เร่งออกกฎหมายห้ามขายห้ามดื่มบนรถไฟนั้น จะนำเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อพิจารณาอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม หากใครพบเบาะแสการทำผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ให้แจ้งมาที่1422 โดยเฉพาะการดื่มบนรถ ทางกรมจะมีสินบนนำจับให้กับผู้แจ้งเบาะแสด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น