เครื่องปั้นดินเผาของชาวเกาะเกร็ด ที่ถ่ายทอดขั้นตอนการทำกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าเครื่องปั้นดินเผาหน้าตาจะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เพราะชาวบ้านดีไซน์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน หรือเป็นของตกแต่งบ้าน นอกจากเป็นการสร้างรายได้แล้วยังคงรักษาภูมิปัญญาและสร้างเอกลักษณ์เครื่องปั้นดินเผาสมัยใหม่ พร้อมกันนี้ ยังมีอาหารพื้นบ้าน ทอดมันหน่อกะลา ขนมไทย และโบราณสถาน สัญลักษณ์วัฒนธรรมชาวมอญ
สิ่งเหล่านี้ล้วนมีเสน่ห์ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมชาวมอญชนิดที่หัวบันไดไม่แห้ง
ปรีชา กันธิยะ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม บอกว่า เพื่อให้เกาะเกร็ดคงความเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม จึงได้มีการสำรวจโบราณสถานบนเกาะเกร็ดปรากฏว่ามีสภาพทรุดโทรม เนื่องจากน้ำท่วม จึงกำชับให้ทุกกรมของวธ.ช่วยกันคนละไม้คนละมือฟื้นฟูโบราณสถาน สภาพแวดล้อม ปรับภูมิทัศน์ วัดสำคัญๆ จัดทำลานธรรม ลานวิถีไทย การฟื้นฟูอาชีพท้องถิ่น ช่างปั้นดินเผา อาหารมอญ เครื่องแต่งกาย ประเพณีต่างๆ ด้วย โดยกระทรวงวัฒนธรรม ใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท เนรมิตเกาะเกร็ด ให้งดงาม
อนันต์ ชูโชติ รองอธิบดีกรมศิลปากร บอกว่า ในขณะนี้ กรมศิลปากร เข้าไปดูแลบูรณะโบราณสถานเป็นหลัก โดยให้ช่างเข้าไปบูรณะเจดีย์ 2 องค์ที่ตั้งอยู่ที่วัดเสาธงทอง มีความทรุดโทรมอย่างหนัก องค์แรกเป็นเจดีย์ทรงระฆังกลมสร้างขึ้นสมัยรัชกาลที่ 4 องค์ที่สอบเป็นเจดีย์มอญที่มีรูปทรงแปลกตา ทำเป็นพูคล้ายผลฟักทองและมีปลียอดเป็นแบบเจดีย์มอญ ฐานล่างมีลานประทักษิณถือเป็นเจดีย์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นซึ่งไม่พบในที่แห่งอื่น
“ในภาพรวมกรมศิลป์ เข้าการดูแลแหล่งโบราณสถานบนเกาะเกร็ด เน้นเรื่องสถาปัตยกรรม ภูมิทัศน์ ความสะอาด ป้ายชื่อแหล่งท่องเที่ยว ศาสนสถาน ประวัติศาสตร์ อาทิ เจดีย์เอียง วัดป่าเลไลยก์ วัดฉิมพลี วัดปริมัยยิกาวาส วัดไผ่ล้อมและวัดเสาธงทอง โดยจะเข้าไปสำรวจ แล้วค่อยๆ บูรณะในส่วนที่ชำรุดทรุดโทรม ให้กลับคงสภาพเดิมมากที่สุด พร้อมทั้งปรับภูมิทัศน์ให้สวยงามด้วย”
อนันต์ เล่าว่า ระหว่างการสำรวจสถานที่สำคัญๆ บนเกาะเกร็ด พบบ้านโบราณซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมแบบมอญโบราณ นอกจากนี้ภายในชุมชนมีโบราณวัตถุที่หาดูได้ยากหลายชิ้น มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่ควรอนุรักษ์ไว้ จึงอยากให้ทางองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หารือกับเจ้าของบ้าน และชุมชนว่า ควรเปิดบ้านโบราณแบบมอญที่มีอยู่หลายหลังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือไม่ หากมีความเห็นตรงกันว่าควรเปิดบ้านแล้วล่ะก็ ขั้นตอนต่อไปควรให้นักเรียน ชุมชน จัดการแสดง นำผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นมาจำหน่าย เพื่อสร้างรายให้กับคนในท้องถิ่น และภาคภูมิใจมรดกทางวัฒนธรรม
ด้าน สิรินชญา กันธิยะ วัฒนธรรมจังหวัดนนทบุรี เล่าว่า ผลการหารือกับชาวบ้าน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น เขาต้องการให้เกาะเกร็ด เป็นหนึ่งในโปรแกรมของบริษัทท่องเที่ยว โดยให้นักท่องเที่ยว ได้ชมการแสดงพื้นบ้าน ชมขั้นตอนการทำเครื่องปั้นดินเผาที่ใส่ไอเดียสมัยใหม่ ตลอดจนลิ้มรสอาหารพื้นบ้านของชาวมอญ แล้วยังซื้อติดไม้ติดมือกลับไปฝากคนที่บ้าน
...วันนี้เสน่ห์ของเกาะเกร็ด มีมากมาย จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมชาวมอญได้ไม่ยาก