xs
xsm
sm
md
lg

ศอ.บต.ทุ่ม 200 ล้าน บูรณะมัสยิด 400 ปี รับ AEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นราธิวาส - ศอ.บต. จัดงบ 200 ล้าน บรูณะมัสยิดตะโละมาเนาะ อายุเกือบ 400 ปี พร้อมทั้งจัดวิทยากรให้ความรู้ภาษาอังกฤษแก่ชาวบ้านบริเวณรอบมัสยิด เพื่อต้อนรับสู่ประชาคมอาเซียน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันนี้ (17 พ.ย.) ที่บริเวณสนามหน้าศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส นายปิยะ กิจถาวร รองเลขาธิการ ศอ.บต.ได้เป็นประธานเปิดงาน กิจกรรมส่งเสริม และพัฒนาครอบครัวเข้าสู่อาเซียน โดยมีเยาวชน และประชาชนในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จำนวน 800 คน เข้าร่วมงานในกิจกรรม ซึ่งเป็นหมู่บ้านบริวารในรอบมัสยิดตะโละมาเนาะ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม สถาปัตยกรรมทางศาสนาที่สำคัญ และมีชื่อเสียง

ทั้งนี้ ได้จัดให้มีวิทยากรภาษามลายู และสอนภาษาอังกฤษให้แก่กลุ่มเยาวชน กลุ่มแม่บ้าน และประชาชนทั่วไปเพื่อให้สามารถพูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาสากลอีกภาษา และเป็นการเตรียมความพร้อมในการต้อนรับ และเปิดประตูเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในอีก 2 ปี ข้างหน้า ซึ่งทาง ศอ.บต. เชื่อมั่นจะเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทย อาเซียน และต่างประเทศจะเข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวนมากในอนาคต และหนึ่งในสิ่งล้ำค่า สถาปัตยกรรมคือ ตัว มัสยิดตาโละมาเนาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส โดยทาง ศอ.บต. ได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อบูรณะภูมิทัศน์รอบบริเวณมัสยิดดังกล่าว จำนวน 200 ล้านบาท

สำหรับมัสยิดตะโละมาเนาะ หรือมัสยิดวาดีลอัลฮูเซ็น ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาบูโด ต.ลูโบะสาวอ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส ห่างจากตัวเมืองนราธิวาส 25 กิโลเมตร สร้างในปี พ.ศ.2167 มีอายุ 389 ปี เป็นมัสยิดเรือนไม้ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และในแหลมมลายูก็ว่าได้ มัสยิดแห่งนี้ได้รับการดูแล และยกย่องให้เป็นมรดกชาติจากกรมศิลปากร ปัจจุบัน ยังคงใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจของชาวมุสลิมในหมู่บ้าน และประชาชนละแวกใกล้เคียง

มัสยิดนี้แตกต่างจากมัสยิดอื่นตรงที่สร้างด้วยไม้ตะเคียนทั้งหลัง จะใช้สลักไม้ยึดแทนตะปู หรือสกรูเหล็ก เป็นการสร้างแบบศิลปะไทยพื้นเมืองประยุกต์ ผสมผสานกับศิลปะแบบจีน และมลายู ตัวมัสยิดสร้างเป็นอาคาร 2 หลังติดกัน มีขนาด 14.20 x 6.30 เมตร ส่วนที่เด่นที่สุดเห็นจะเป็นหลังคา หลังแรกจะมีหลังคา 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผา หลังคาชั้น 3 มีโดมเป็นเก๋งจีน ส่วนที่ 2 จะมีหลังคา 2 ชั้น หลังคาชั้นที่ 2 เป็นจั่วรูปฐานรองรับอยู่บนหลังคาชั้นแรก รอบฐานจะแกะสลักเป็นเถาก้าน เจาะเป็นลวดลายต่างๆ อย่างสวยงาม ด้านในจะมีบันไดซึ่งสมัยก่อนใช้ขึ้นไปบนหออะซานหลังคาชั้นที่ 2 เพื่อตะโกนเรียกละหมาด



 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น