สถาบันกัลยาณ์ฯชี้ “ไอ้ติ๊งต่าง” อาจไม่ได้ป่วยทางจิต เป็นพวกกามวิตถาร เหตุกระทำโดยมีสติรู้ตัว แต่ไร้จิตสำนึกยามก่อเหตุ เผยตำรวจยังไม่ประสานให้ช่วยตรวจสอบ ระบุในต่างประเทศหากได้รับโทษแล้วปล่อยตัวต้องมีระบบติดตาม ป้องกันการกระทำผิดซ้ำ เตือนพ่อแม่เฝ้าระวังและสอนเด็กห้ามไปหรือรับของกับคนแปลกหน้า
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ กล่าวถึงกรณี นายหนุ่ย หรือ ติ๊งต่าง ผู้ต้องหาที่ก่อเหตุกระทำชำเราและฆ่าน้องการ์ตูน วัย 6 ขวบ ว่า การกระทำชำเราเด็กหญิงเข้าข่ายผู้เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม (Antisocial Personality Disorder) และเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มหนึ่งของกามวิตถาร อาจเกิดจากการถูกทอดทิ้งตั้งแต่วัยเด็ก ไม่มีพ่อแม่เลี้ยงดู ไม่ได้รับความรัก ทำให้ขาดมโนสำนึก มีภาวะอันธพาล ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ เมื่อเกิดแรงจูงใจคือ อารมณ์ทางเพศ มีเหยื่อ ก็จะลงมือก่อเหตุโดยที่ยังมีสติรู้ตัวทุกอย่าง ถือว่าเป็นอาชญากร ไม่ใช่ผู้ป่วยจิตเภท เพราะผู้ป่วยจิตเภท มักเกิดจากความผิดปกติในสมอง เกิดจากอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ทำให้ไม่มีความยับยั้งชั่งใจและไม่รู้ตัวในการกระทำต่างๆ
“กรณีนี้ผมยังไม่ได้รับการประสานจากตำรวจมายังสถาบันฯ ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องการให้ตรวจสอบก็ต้องรับตัวไว้พิจารณา ขณะนี้ยังไม่สามารถระบุได้ว่า เป็นอาการประเภทไหนอย่างแน่ชัด ต้องตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนในต่างประเทศมักพบว่า คนร้ายมักกระทำเหตุเหล่านี้แบบต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนแก่ หรือ สัตว์ หากมีแรงกระตุ้นแบบไหน ก็มักจะกระทำแบบเดิมซ้ำๆ ซึ่งจะต้องมีระบบการเฝ้าระวังทางสังคม เมื่อคนประเภทนี้ได้รับโทษและปล่อยตัวออกมาแล้ว ก็จะมีการรายงานและติดตามคนเหล่านี้เพื่อเฝ้าระวังการก่อเหตุซ้ำด้วย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า ส่วนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ไม่ควรปล่อยบุตรหลานให้คลาดสายตา โดยยึดหลักว่าต้องไม่ปล่อยให้เด็กเล็กไปกับคนแปลกหน้า ไม่ให้รับของจากคนแปลกหน้า และต้องสังเกตคนที่มีพฤติกรรมขัดบุคลิกภาพ หรือ ชอบไปอยู่กับเด็กโดยแบบผิดปกติหรือขัดต่อบุคลิกของตัวเอง เช่น ชอบกอดรัดมากกว่าปกติโดยที่เด็กคนนั้นๆ ไม่ใช่ลูกหลาน หรือ ชอบให้เด็กเล่นด้วยในลักษณะที่ผิดปกติโดยเฉพาะการสัมผัสตัว การกอดรัด สังคมควรเฝ้าระวังคนเหล่านี้ และกันไม่ให้ลูกหลานอยู่ไกลจากสายตา