xs
xsm
sm
md
lg

เตือน!! หม่ำอาหารสุดโปรดมากๆ ระวังเสพติด ไม่ได้เจี๊ยะแล้วลงแดงเหมือนติดยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักโภชนาการเตือนกินอาหารที่ชอบมากๆ ระวังเกิดอาการเสพติดอาหาร เหตุกินแล้วมีความสุข จึงกินบ่อยๆ จนทำให้เป็นโรคอ้วน ชี้อาการคล้ายคนติดยา หากไม่ได้กินแล้วจะลงแดง จิตใจไม่เป็นสุข หงุดหงิด อารมณ์เสีย ปวดหัว มือสั่น ใจสั่น เผย 7 วิธีสังเกตอาการ แนะให้กินอาหารที่เสพติดน้อยลง

ดร.ฉัตรภา หัตถโกศล อาจารย์ประจำภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ขณะนี้โรคอ้วนลงพุงมีอัตราเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการเสพติดอาหาร ซึ่งนักวิชาการด้านโภชนาการได้ทำการศึกษาการเสพติดอาหารของคน พบว่า สารเคมีในสมองของคนเสพติดอาหารจะเปลี่ยนแปลงเหมือนคนติดยาเสพติด โดยความหวานจะทำให้เกิดการเสพติดได้มากที่สุด รองมาคือความเค็มและความมัน เมื่อได้รับอาหารที่ตัวเองเสพติดแล้ว สารโดปามีนจะหลั่งออกมาทำให้เกิดความสุข อารมณ์ดี ตื่นตัว กระฉับกระเฉง มีสมาธิทำงานได้ดีขึ้น จึงเกิดเป็นการเสพติด เพราะต้องการที่จะได้รับความสุขและทำงานได้มากขึ้น จึงรับประทานอาหารชนิดนั้นบ่อยและมากเกินไป จนได้รับพลังงานมากเกินทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น

พฤติกรรมเสพติดอาหารสังเกตได้ ดังนี้ 1.เลือกซื้ออาหารชนิดนั้นเป็นประจำมากกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 2.กินอาหารชนิดนั้นมากกว่าที่วางแผนว่าจะกิน หรือกินแล้วไม่อยากหยุดกิน 3.มีความอยากกินอาหารชนิดนั้นมากกว่าอาหารชนิดอื่น 4.กินอาหารชนิดนั้นแม้ว่าจะไม่หิวเลยก็ตาม 5.เมื่อไม่ได้กินอาหารชนิดนั้นจะทำให้จิตใจไม่เป็นสุข เกิดความหงุดหงิด อารมณ์เสียหรืออาการทางร่างกาย เช่น ปวดหัว มือสั่น ใจสั่น หน้ามืด 6.ขาดสมาธิเมื่อไม่ได้อาหารชนิดนั้นๆ และ 7.หาข้ออ้างหรือเหตุผลในการกินอาหารชนิดนั้นเสมอ” ดร.ฉัตรภา กล่าว

ดร.ฉัตรภา กล่าวอีกว่า แนวทางแก้ไขการเสพติดอาหารทำได้โดยวางแผนอาหารในแต่ละวันและพยายามทำให้ได้ตามแผน เมื่อรู้ตัวว่ากำลังเสพติดอาหารชนิดใดอยู่ ก็ให้กินต่อไป แต่ว่าต้องลดปริมาณลงและกินเฉพาะในมื้ออาหารเท่านั้น พยายามเลือกอาหารที่มีประโยชน์ เช่น หากติดน้ำหวานอาจหันไปกินผลไม้รสหวานแทน ร่วมกับผลไม้ที่ไม่หวาน ทำการจดบันทึกพฤติกรรมการบริโภคว่าอาหารว่า มีความถี่ในการกินมากน้อยแค่ไหน ถามตัวเองก่อนที่จะกินอาหารที่เสพติดว่าต้องการจริงๆ หรือไม่ และต้องการปริมาณเท่าใดถึงจะพอ การถามตัวเองก่อนจะช่วยลดปริมาณความอยากอาหารลงได้ และพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการซื้อหาหรือมีอาหารที่เสพติดอยู่ ทั้งนี้ แม้การเสพติดอาหารจะไม่น่ากลัวเหมือนการเสพอย่างอื่น แต่ก็เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้เพราะทำให้เกิดโรคเรื้อรังจากความอ้วนได้หลายโรค


กำลังโหลดความคิดเห็น