xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการยัน “น้ำสีม่วง” ไม่ใช่อาวุธเคมี เป็นแค่ด่างทับทิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการชี้ “น้ำสีม่วง” ฉีดผู้ชุมนุม เป็น “ด่างทับทิม” ไม่ใช่อาวุธเคมีแน่นอน ระบุที่ทำให้เกิดการระคายเคือง เพราะผสมสารโซเดียมไธโอซัลเฟต กลายเป็นกรดอ่อน เข้มกว่าน้ำส้มสายชูเล็กน้อย ยันไม่ใช่แก๊สน้ำตาผสมสี
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พญ.ฉันทนา ผดุงทศ นักวิชาการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีพบการใช้น้ำสีม่วงฉีดพ่นใส่ผู้ชุมนุมจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ว่า จากการสอบถามข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ และการค้นหาข้อมูลจากศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (cdc) และองค์กรอาวุธเคมีระดับสากล น้ำสีม่วงที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้ฉีดพ่นใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเชื่อว่าเป็นการนำน้ำผสมแก๊สน้ำตานั้น ข้อเท็จจริงคือน้ำสีม่วงเป็นสารเคมีที่มีสีเพื่อใช้ในการสลายการชุมนุม และทำให้ระบุตัวผู้ชุมนุมได้ง่าย เนื่องจากสีจะติดตามตัวและเสื้อผ้าทำให้ล้างออกได้ยาก ทั้งนี้ สารเคมีที่ใช้คือโปแตสเซียมเปอร์มังกาเนต (Potassium permanganate) หรือ ด่างทับทิม ที่ใช้ละลายน้ำแช่ผักผลไม้ตามบ้าน โดยผสมกับโซเดียมไธโอซัลเฟต (Sodium thiosulphate) เพื่อให้สามารถฉีดพ่นได้ดีขึ้น ซึ่งสารเคมี 2 ชนิดนี้เมื่อทำปฏิกิริยากันแล้ว จะทำให้เกิดก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มีฤทธิ์ทำให้เกิดอาการระคายเคืองเยื่อบุตา ทางเดินหายใจ และเมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำ ก็จะกลายเป็นกรดกำมะถันอ่อนๆ เป็นเหตุให้ผู้ถูกน้ำสีม่วงจะมีอาการแสบคันตามผิวหนัง

"น้ำสีม่วงไม่ใช่อาวุธเคมี มีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนๆ หากจะเทียบความเข้มข้นจะสูงกว่าน้ำส้มสายชูเล็กน้อย และไม่ใช่เป็นการนำแก๊สน้ำตามาผสมเพื่อฉีดพ่น เพราะแก๊สน้ำตาไม่ละลายน้ำ ความเข้มข้นของน้ำไม่ใช่ฝนกรด ทั้งนี้ ตามอนุสัญญาอาวุธเคมียังมีความก้ำกึ่งว่าการใช้สารควบคุมจราจลต้องมีการขออนุญาตการใช้หรือไม่ เมื่อยังมีความก้ำกึ่งก็แปลว่าไม่ต้องขอก็ได้” พญ.ฉันทนา กล่าว

พญ.ฉันทนา กล่าวอีกว่า สำหรับอาวุธเคมีหมายถึงสารที่ทำให้เกิดพิษต่อร่างกายอย่างรุนแรง จนถึงขั้นทำให้เสียชีวิตได้ แต่การใช้แก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมนั้นไม่ได้หวังมุ่งเอาชีวิต ทั้งนี้ อาวุธเคมีแบ่งตามพิษ ที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แบ่งได้เป็น 1.Choking agent หรือ สารเคมีทำให้เกิดอาการปอดบวมน้ำ เช่น คลอรีน ฟอสจีน 2.blister/vesicants หรือ สารเคมีที่ทำให้เกิดแผลพุพองที่ผิวหนังคล้ายถูกไฟไหม้ เช่น ก๊าซมัสตาร์ด 3.Blood agent หรือสารเคมีที่ทำให้เม็ดเลือดแดงจับกับออกซิเจนได้น้อยลง เช่น ไฮโดรเจน ไซยาไนด์ คาร์บอนมอนอกไซด์ 4.Nerve agent หรือ สารเคมีที่ทำให้ไม่สามารถส่งกระแสประสาทได้ เกิดอาการอัมพฤกษ์ต่างๆ เช่น ออร์กาโนฟอสเฟต (ซาริน โซมาน) 5.กรดหรือด่างอย่างแรง เช่น กรดกัดแก้ว และ 6.พิษจากสิ่งมีชีวิต เช่น เชื้อโบทูลินัม (หน่อไม้ปี๊บ) ไรซิน ทั้งนี้ จากข้อมูลวิชาการ พบว่า แก๊สน้ำตา มีหลายกลุ่มแต่ที่นิยมใช้ คือ Chloroacetophenone (CN) และ Chlorobenzyidenemalononitrile (CS) โดย CN จะเป็นสารเคมีในกลุ่มของแข็งไม่ใช่แก๊ส และไม่ละลายน้ำ ส่วน CS สามารถละลายน้ำได้แต่น้อยมาก แต่จะสามารถละลายได้ดีในตัวทำละลายสารอินทรีย์ โดยการจะทำให้สารเคมีออกฤทธิ์ต้องใช้วิธียิงและทำให้ระเบิดในลักษณะของดอกไม้ไฟและไม่สามารถนำไปผสมน้ำเพื่อฉีดพ่นได้

พญ.ฉันทนา กล่าวด้วยว่า สำหรับวิธีการสลายการชุมนุมที่เป็นไปตามหลักสากลนั้น มีหลายวิธีแต่ต้องมีจุดประสงค์คือ กันคนออกจากพื้นที่ การทำให้คนแตกกระจาย หรือทำให้ร่างกายไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จะช่วยลดการทำร้ายร่างกายและเผชิญหน้าลง วิธีที่ใช้จะแบ่งเป็น 1.ไม่ใช่สารเคมี เช่น ปืนฉีดน้ำ กระสุนพลาสติก กระสุนยาง หรือใช้สารโมเลกุลใหญ่มีความหนืดเทลงบนถนน และ 2.การใช้สารเคมี แบ่งเป็น 4 ชนิดย่อย คือ สารเคมีที่มีฤทธิ์ระคายเคืองระบบประสาทส่วนปลาย เช่น แก๊สน้ำตา สเปรย์พริกไทย การใช้เม็ดสี หรือ สีผสมสารเรืองผสม สารเคมีที่มีกลิ่นฉุนรุนแรง และควันที่ไม่มีฤทธิ์ระคายเคือง


กำลังโหลดความคิดเห็น