xs
xsm
sm
md
lg

นักศึกษา สจล.ยื่นหนังสือตรวจสอบการทำงานอธิการบดี สจล.วันที่ 27 พ.ย. 56

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กลุ่มศิษย์เก่า-นศ.ปัจจุบัน สจล.เตรียมแถลงการณ์ร้องเรียนตรวจสอบการทำงานอธิการถึงเงื่อนไขการับนักศึกษา ป.เอก สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยและบริหารจัดการ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 27 พ.ย. 2556 เวลา 08.00 น.ที่บริเวณด้านหน้าตึกอธิการบดี (อาคารกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กลุ่มศิษย์เก่าและนักศึกษาปัจจุบัน ของ สจล.จะแถลงการณ์ พร้อมยื่นหนังสือร้องเรียนกว่า 3,500 ฉบับ ต่อ พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกสภาสถาบัน เพื่อทำการตรวจสอบถึงการบริหารงานของ ศ.ดร.ถวิล พึ่งมา อธิการบดี สจล. กรณีเกี่ยวกับมาตรฐานการรับนักศึกษาเข้าเรียนในระดับปริญญาเอก สาขาบริหารธุรกิจอุตสาหกรรม วิทยาลัยและบริหารจัดการ สจล.ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 และเพื่อให้ตอบคำถามของศิษย์เก่า และนักศึกษาปัจจุบัน ดังนี้ 1.เหตุใดผู้บริหารสถาบันฯจึงต้องแก้ไขกฎเกณฑ์การรับนักศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกโดยอนุญาตให้ผู้ต้องคดีความอาญาเข้าศึกษาในระดับปริญญาโทและเอกได้แต่ยังคงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ห้ามผู้เป็นนักศึกษาในระดับปริญญาตรีต้องคดีความอาญาในทุกกรณี 2.ทางสถาบันฯมีเกณฑ์การคัดเลือกคุณสมบัติของนักศึกษาเพื่อเข้าศึกษาในระดับปริญญาเอก เนื่องจากในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 นี้ สาขาวิชาดังกล่าวได้รับนักศึกษาในรอบแรกจำนวน 21 คน และมีการประกาศรับเพิ่มเติมในรอบที่ 2 อีกจำนวน 27 คน รวมแล้วเป็นจำนวนถึง 48 คน ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่านักศึกษาหลายท่านเป็นนักการเมือง หรือมีความเกี่ยวโยงกับนักการเมืองและพรรคการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ 3.จากการเปรียบเทียบรายชื่อผู้ยืนยันสิทธิ์และชำระเงิน ที่มีสิทธิ์รายงานตัวเพื่อเข้าศึกษา ในระดับบัณฑิตศึกษา จากสำนักทะเบียนและประมวลผล รอบที่ 1 รวม 21 คน และรอบที่ 2 รวม 27 คน รวมทั้ง 2 รอบ มีจำนวนทั้งสิ้น 48 คน แต่ในรายนามนักศึกษาแยกตาม สาขาวิชาที่ได้จากระบบสารสนเทศงานทะเบียนบัณฑิต กลับมีนักศึกษาเพิ่มเข้ามาอีก 1 คน เป็นลำดับที่ 49 ได้แก่ นางสาววิสาระดี เตชะธีรวัฒน์ จึงอยากเรียนถามทางผู้บริหารสถาบันฯ ว่า ชื่อของ นางสาววิสาระดี เตชะธีรวัฒน์ ถูกเพิ่มเติมขึ้นในบัญชีรายชื่อได้อย่างไร เหตุใดจึงไม่ปรากฏชื่อ ของนางสาววิสาระดี ในรายนามผู้มีสิทธิ์รอบที่ 1 และ 2

ทั้งนี้ 4.การสอบคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาที่ผ่านมา มีทั้งการสอบข้อเขียนและสอบ สัมภาษณ์ แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ใหม่ คือให้สอบสัมภาษณ์แต่เพียงอย่างเดียว โดยมิได้มีการสอบข้อเขียน จึงอยากทราบว่าการเปลี่ยนมาตรฐานการสอบเข้าศึกษา ในระดับปริญญาเอก ดังกล่าว เป็นการดำเนินการเพื่อตอบสนองนโยบายอื่นใดหรือไม่ และสถาบันฯมีมาตรฐาน และกระบวนการในการสอบสัมภาษณ์อย่างไร และใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินในการรับนักศึกษาผู้นั้น 5.ปัจจุบันอาจารย์ภายในวิทยาลัยดังกล่าวซึ่งสามารถเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกในหลักสูตรนี้ได้ มีเพียง 10-12 ท่าน ในขณะที่นักศึกษาที่รับเข้ามาในหลักสูตรปริญญาเอกนี้ มีจำนวนรวมแล้วถึง 155 คน ซึ่งตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องเกณฑ์มาตรฐาน หลักสูตร ระดับบัณฑิตศึกษา พ.ศ.2548 ได้กำหนดให้อาจารย์ประจำ 1 ท่าน สามารถรับเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกได้ไม่เกิน 5 คน หากเกินจากนี้ให้อยู่ในดุลพินิจของสถาบันอุดมศึกษานั้น แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 10 คน ซึ่งภายในวิทยาลัยดังกล่าวยังมีหลักสูตรระดับ ปริญญาโทอีก 3 สาขาวิชา เห็นได้ชัดว่าจำนวนอาจารย์ไม่เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอน อย่างมีคุณภาพ แม้ว่าทางสถาบันฯจะสามารถแต่งตั้งอาจารย์พิเศษที่มีคุณวุฒิสูงในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเข้ามาเพิ่มเติมได้ แต่การใช้อัตราส่วนอาจารย์ที่ปรึกษาต่อนักศึกษา ในอัตราส่วน 1:10 นั้น ไม่น่าจะก่อให้เกิดการเรียนการสอนที่มีคุณภาพได้ จึงอยากเรียนถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนและคุณภาพการศึกษาของสถาบันฯ และ 6.กรณีการแก้ไขเกรดให้กับลูกของท่านอธิการบดี จำนวน 8 รายวิชา ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2555 นั้น ซึ่งทางศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันต้องการทราบความคืบหน้าในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น