แพทยสภาชี้ “หมอบอนด์” อ้างเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว เข้าข่ายความผิดด้านจริยธรรม ส่งเรื่องเข้าคณะอนุกรรมการฯตรวจสอบ เตรียมลากตัวให้ข้อมูลพิสูจน์ตัวเอง พร้อมตรวจสอบวุฒิบัตรอื่น และ ป.โท ป.เอกเพิ่ม หากผิดจริงอาจเจอโทษสูงสุดถึงขั้นยึดใบประกอบวิชาชีพฯ และฟ้องคดีอาญาต่อไป เล็งตั้งทีมล่าแพทย์แจ้งวุฒิปลอมในเว็บ ป้องกัน ปชช.ถูกหลอก
วันนี้ (8 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.30 น.ที่ห้องประชุมนายแพทย์ไพจิตร ปวะบุตร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ระหว่างการประชุมแพทยสภา ซึ่งมีวาระการพิจารณากรณีคุณวุฒิทางการศึกษาของ นพ.ปิยะวงศ์ เศรษฐวงศ์ หรือ หมอบอนด์ ซึ่งมีหลากหลายและอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง ว่า จากการที่มีสมาชิกแพทยสภาคนหนึ่งร้องเรียนมายังสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา กรณี นพ.ปิยะวงศ์ แอบอ้างว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะกรรมการแพทยสภาได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า นพ.ปิยะวงศ์ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 แต่ไม่เคยได้รับหนังสืออนุมัติบัตรสาขาดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเห็นควรส่งเรื่องของ นพ.ปิยะวงศ์ ให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมดำเนินการทางคดีจริยธรรม เนื่องจากเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใด ใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ รวมถึงการใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขานั้นๆ จากแพทยสภา หรือที่แพทยสภารับรอง หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับแพทยสภา
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวุฒิบัตรอื่นๆ รวมถึงวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกจากต่างประเทศ ก็จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ซึ่งหากพบว่าผิดจริง โดยมีเจตนาเพื่อหลอกลวงผู้อื่นให้เกิดความเสียหาย คณะกรรมการก็จะพิจารณาลงโทษ ซึ่งมีตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ไปจนถึงการยึดใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และอาจพิจารณาฟ้องทางคดีอาญาต่อไป
“กรณีหมอบอนด์ถือเป็นการเตือนและปรามแพทย์ทุกคนที่มีการแจ้งวุฒิทางอินเทอร์เน็ต เพราะในสังคมออนไลน์สามารถเขียนหรืออ้างข้อมูลใดๆ ก็ได้ หากแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จถือว่าเป็นการทำให้วิชาชีพแพทย์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อ ประชาชนไม่เชื่อถือ นอกจากนี้ ขอเตือนไปถึงการรับแพทย์เข้าทำงานหรือหากประชาชนต้องการเช็กประวัติการศึกษาของแพทย์ว่าจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของแพทยสภา www.tmc.or.th โดยสามารถพิมพ์ชื่อและนามสกุลเพื่อค้นหาได้เลย โดยจะแสดงให้เห็นรูปหน้าพร้อมวุฒิของแพทย์คนนั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมา รพ.เอกชนจะดำเนินการตรวจสอบกับแพทยสภาเป็นประจำ เมื่อไม่แน่ใจในประวัติผู้สมัครงาน” นายกแพทยสภา กล่าว
ด้าน นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า กรณี นพ.ปิยะวงศ์ ถือเป็นคดีจริยธรรม ต้องเข้าคณะอนุกรรมการจริยธรรม แต่ยังไม่ถือว่า นพ.ปิยะวงศ์ มีความผิด ต้องให้โอกาส นพ.ปิยะวงศ์ ได้มาพิสูจน์ตนเอง ซึ่งหลังจากนี้คณะอนุฯก็จะมีการเรียก นพ.ปิยะวงศ์ เข้ามาให้ข้อมูล พร้อมนำหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ หากพบว่ามีความผิดจริงโทษสูงสุดคือ การยึดใบประกอบวิชาชีพฯ ซึ่งระดับของโทษขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและผู้เสียหาย ส่วนการจะฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่ ต้องมีการตีความวุฒิการศึกษา เนื่องจาก นพ.ปิยะวงศ์ มีการระบุโดยการเลี่ยงคำ เช่น ผู้ชำนาญการ ตรงนี้ต้องตีความว่าเข้าข่ายความผิดอาญาตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ที่สำคัญวุฒิที่ระบุไว้มีเป็นจำนวนมาก ก็ต้องใช้ระยะเวลาการตีความในแต่ละวุฒิ
“เคสหมอบอนด์ถือเป็นต้นแบบคดีในอนาคต เรื่องของการแจ้งวุฒิทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการพิจารณาว่าวุฒิใดจะใช้คำว่าอะไรให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งต่อไปอาจจะมีการตั้งทีมขึ้นมาตรวจไล่จับและกวาดล้างแพทย์ที่มีการปลอมวุฒิในสังคมออนไลน์ เพื่อคุ้มครองประชาชนด้วย” รองเลขาฯ แพทยสภา กล่าว
วันนี้ (8 ส.ค.) เมื่อเวลา 15.30 น.ที่ห้องประชุมนายแพทย์ไพจิตร ปวะบุตร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ให้สัมภาษณ์ระหว่างการประชุมแพทยสภา ซึ่งมีวาระการพิจารณากรณีคุณวุฒิทางการศึกษาของ นพ.ปิยะวงศ์ เศรษฐวงศ์ หรือ หมอบอนด์ ซึ่งมีหลากหลายและอาจไม่ตรงกับความเป็นจริง ว่า จากการที่มีสมาชิกแพทยสภาคนหนึ่งร้องเรียนมายังสำนักงานเลขาธิการแพทยสภา กรณี นพ.ปิยะวงศ์ แอบอ้างว่าเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาเวชศาสตร์ครอบครัว คณะกรรมการแพทยสภาได้ดำเนินการตรวจสอบข้อมูลแล้วพบว่า นพ.ปิยะวงศ์ จบการศึกษาแพทยศาสตรบัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2554 แต่ไม่เคยได้รับหนังสืออนุมัติบัตรสาขาดังกล่าวแต่อย่างใด จึงเห็นควรส่งเรื่องของ นพ.ปิยะวงศ์ ให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมดำเนินการทางคดีจริยธรรม เนื่องจากเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 28 แห่ง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม 2525 ระบุว่า ห้ามมิให้ผู้ใด ใช้คำหรือข้อความที่แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขาต่างๆ รวมถึงการใช้ จ้าง วาน หรือยินยอมให้ผู้อื่นกระทำดังกล่าวให้แก่ตน เว้นแต่ผู้ได้รับวุฒิบัตรหรือหนังสืออนุมัติเป็นผู้มีความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพเวชกรรมสาขานั้นๆ จากแพทยสภา หรือที่แพทยสภารับรอง หรือผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้มีคุณสมบัติตามที่กำหนดในข้อบังคับแพทยสภา
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับวุฒิบัตรอื่นๆ รวมถึงวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกจากต่างประเทศ ก็จะมีการตรวจสอบเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน ซึ่งหากพบว่าผิดจริง โดยมีเจตนาเพื่อหลอกลวงผู้อื่นให้เกิดความเสียหาย คณะกรรมการก็จะพิจารณาลงโทษ ซึ่งมีตั้งแต่ตักเตือน ภาคทัณฑ์ ไปจนถึงการยึดใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม และอาจพิจารณาฟ้องทางคดีอาญาต่อไป
“กรณีหมอบอนด์ถือเป็นการเตือนและปรามแพทย์ทุกคนที่มีการแจ้งวุฒิทางอินเทอร์เน็ต เพราะในสังคมออนไลน์สามารถเขียนหรืออ้างข้อมูลใดๆ ก็ได้ หากแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จถือว่าเป็นการทำให้วิชาชีพแพทย์ได้รับความเสียหาย เสียชื่อ ประชาชนไม่เชื่อถือ นอกจากนี้ ขอเตือนไปถึงการรับแพทย์เข้าทำงานหรือหากประชาชนต้องการเช็กประวัติการศึกษาของแพทย์ว่าจริงหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ของแพทยสภา www.tmc.or.th โดยสามารถพิมพ์ชื่อและนามสกุลเพื่อค้นหาได้เลย โดยจะแสดงให้เห็นรูปหน้าพร้อมวุฒิของแพทย์คนนั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมา รพ.เอกชนจะดำเนินการตรวจสอบกับแพทยสภาเป็นประจำ เมื่อไม่แน่ใจในประวัติผู้สมัครงาน” นายกแพทยสภา กล่าว
ด้าน นาวาอากาศเอก (พิเศษ) นพ.อิทธพร คณะเจริญ รองเลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่า กรณี นพ.ปิยะวงศ์ ถือเป็นคดีจริยธรรม ต้องเข้าคณะอนุกรรมการจริยธรรม แต่ยังไม่ถือว่า นพ.ปิยะวงศ์ มีความผิด ต้องให้โอกาส นพ.ปิยะวงศ์ ได้มาพิสูจน์ตนเอง ซึ่งหลังจากนี้คณะอนุฯก็จะมีการเรียก นพ.ปิยะวงศ์ เข้ามาให้ข้อมูล พร้อมนำหลักฐานต่างๆ มาพิสูจน์ หากพบว่ามีความผิดจริงโทษสูงสุดคือ การยึดใบประกอบวิชาชีพฯ ซึ่งระดับของโทษขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและผู้เสียหาย ส่วนการจะฟ้องเป็นคดีอาญาหรือไม่ ต้องมีการตีความวุฒิการศึกษา เนื่องจาก นพ.ปิยะวงศ์ มีการระบุโดยการเลี่ยงคำ เช่น ผู้ชำนาญการ ตรงนี้ต้องตีความว่าเข้าข่ายความผิดอาญาตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ที่สำคัญวุฒิที่ระบุไว้มีเป็นจำนวนมาก ก็ต้องใช้ระยะเวลาการตีความในแต่ละวุฒิ
“เคสหมอบอนด์ถือเป็นต้นแบบคดีในอนาคต เรื่องของการแจ้งวุฒิทางอินเทอร์เน็ต รวมถึงจะเป็นบรรทัดฐานใหม่ในการพิจารณาว่าวุฒิใดจะใช้คำว่าอะไรให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งต่อไปอาจจะมีการตั้งทีมขึ้นมาตรวจไล่จับและกวาดล้างแพทย์ที่มีการปลอมวุฒิในสังคมออนไลน์ เพื่อคุ้มครองประชาชนด้วย” รองเลขาฯ แพทยสภา กล่าว