xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจสุขภาพคนไทยพบกินผักน้อย เสี่ยงเบาหวาน-ความดัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ร.ร.แพทย์ 5 แห่งเร่งเก็บข้อมูลตรวจร่างกายคนไทยทั่วประเทศ พบคนไทยกินผักน้อยแค่ 18% ดัชนีมวลกายเกินมาตรฐาน ไม่รู้ตัวว่าเป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอล หวังนำข้อมูลกำหนดนโยบายสาธารณสุข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.วิชัย เอกพลากร คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะนักวิจัยโครงการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย สำนักงานวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สวรส.ร่วมกับ สำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กำลังทำโครงการสำรวจสุขภาพคนไทย ครั้งที่ 5 ระหว่าง ต.ค. 2556 - พ.ย. 2557 เพื่อสำรวจสถานการณ์สุขภาพ และปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพของคนไทย โดยสุ่มสำรวจประชาชน ตั้งแต่อายุ 1 ปี - 60 ปี จำนวน 32,400 คน จาก 21 จังหวัดทุกภูมิภาค โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์ และการตรวจสุขภาพจากโรงพยาบาล อาทิ ตรวจเลือด ปัสสาวะทางห้องปฏิบัติการ โดย รพ.รามาธิบดี จะเก็บข้อมูลประชาชนใน กทม. ม.เชียงใหม่ เก็บภาคเหนือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เก็บภาคกลาง ม.ขอนแก่น เก็บภาคอีสาน และ ม.สงขลานครินทร์ เก็บภาคใต้ เพื่อนำไปวางแผนกำหนดนโยบายสาธารณสุข และส่งเสริมการป้องกันโรค

นพ.สุวัฒน์ จริยาเลิศศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ กล่าวว่า การสำรวจจะจำแนกตามช่วงอายุ แบ่งเป็น 5 ช่วงคือ 1.อายุ 1-5 ปี ทดสอบพัฒนาการ ตรวจปัสสาวะ และดูปริมาณไอโอดีน เป็นต้น 2.อายุ 6-9 ปี ทดสอบพัฒนาการ ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น 3.อายุ 10-19 ปี วัดความดันโลหิต เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด การทำงานของไต 4.อายุ 20-59 ปี เจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะเลือดจาง เป็นต้น และ 5.อายุ 60 ปีขึ้นไป วัดระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันในเลือด ภาวะเลือดจาง เป็นต้น ซึ่งเด็กและผู้ใหญ่ มีปัญหาสุขภาพและพฤติกรรมที่แตกต่างกัน แต่ในทุกช่วงอายุจะเน้นการสำรวจเรื่องโภชนาการว่ามีการบริโภคที่เหมาะสมหรือไม่

“การสำรวจครั้งที่ 4 ที่ผ่านมา พบว่า คนไทยกินผักประมาณ 18% และยังพบว่า คนไทยทั้งชายและหญิงมีเส้นรอบเอวและค่าดัชนีมวลกายเกินค่ามาตรฐาน อีกทั้งกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าตัวเองเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และคอเลสเตอรอล มาก่อน ดังนั้น ถือเป็นโอกาสที่กลุ่มตัวอย่างที่รับการตรวจสุขภาพ จะได้ทราบข้อมูลสุขภาพของตัวเอง คาดว่า ใช้เวลาประมาณ 6 เดือนในการเก็บวิเคราะห์ข้อมูล และเขียนรายงานผลสำรวจ จากนั้นจะทำข้อค้นพบที่สำคัญนำเสนอเชิงนโยบายต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นพ.สุวัฒน์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น