xs
xsm
sm
md
lg

สุดอั้น! ราคา LPG พุ่ง อุตฯ เซรามิกหันซบพลังงานชีวมวล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เซรามิก จ.ลำปาง เตรียมนำร่องใช้พลังงานชีวมวล
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน แนะอุตฯ เซรามิก-แก้ว หันใช้พลังงานชีวมวล แทนแอลพีจี เตรียมตั้งงบฯ มอบ ม.เชียงใหม่ ศึกษาและพัฒนาระบบ นำร่องลำปางแห่งแรก คาดสามารถใช้แก๊สจากชีวมวลทดแทนแอลพีจีได้ 100% ช่วยลดการใช้แอลพีจีปีละ 36 ตัน/เตาเผา หรือ 1 ล้านบาท/ปี

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมแก้วและกระจกเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ให้ประเทศปีละกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งต้องใช้ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี ) และก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) เป็นเชื้อเพลิง คิดเป็นสัดส่วนประมาณ15-40% ของต้นทุนการผลิต และจากนโยบายรัฐที่ลดการชดเชยแอลพีจี ภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนพลังงานสูงขึ้นประมาณร้อยละ 60 จากต้นทุนเดิม ทำให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานจึงได้สนับสนุนงบประมาณให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดำเนินโครงการพัฒนาเชื้อเพลิงแก๊สจากชีวมวลสำหรับอุตสาหกรรมเผาอุณภูมิสูง (เซรามิก) เพื่อศึกษา และพัฒนาระบบผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวลในระดับชุมชนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนแอลพีจีที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก และอุตสาหกรรมแก้วและกระจก ด้วยการใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น โดยการทดสอบในเตาเผาเซรามิกแบบเป็นครั้ง (เตาชัตเติล Shuttle) ซึ่งจะดำเนินโครงการนำร่องใน จ.ลำปาง เป็นแห่งแรก สำหรับการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการพัฒนาเชื้อเพลิงอื่นทดแทนแอลพีจี ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากจะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีให้ชุมชนแล้วยังมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเซรามิก คาดจะสามารถใช้แก๊สจากชีวมวลทดแทนแอลพีจีได้ 100% ซึ่งจะช่วยลดการใช้แอลพีจีปีละ 36 ตัน/เตาเผา หรือประมาณ 1 ล้านบาท/ปี

ผศ.ดร.อนุชา พรมวังขวา ผู้จัดการโครงการพัฒนาเชื้อเพลิงแก๊สจากชีวมวลสำหรับอุตสาหกรรมเผาอุณภูมิสูง (เซรามิก) กล่าวว่า ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงที่ได้จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น เศษไม้ หญ้า ฟางข้าว เป็นต้น ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่มีความชื้นสูง ค่าความร้อนต่ำ และมีความหนาแน่นไม่สม่ำเสมอ การออกแบบระบบแก๊สซิไฟเออร์สำหรับเชื้อเพลิงชีวมวลและการเลือกขนาดที่เหมาะสม จึงมีความสำคัญและเป็นความท้าทายมาก เนื่องจากการพัฒนาระบบให้สามารถใช้กับอุตสาหกรรมการเผาในอุณภูมิที่สูงถึง 1,200 องศาเซลเซียส สิ่งสำคัญการศึกษาและพัฒนาเชื้อเพลิงแก๊สจากชีวมวลครั้งนี้ คือ การพัฒนาเตาเผาจากเดิมแอลพีจี ปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงแก๊สชีวมวลที่ผลิตและหาวัสดุได้ในชุมชน ซึ่งเป็นการส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนใช้ในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กได้อย่างครบวงจร โดยการเผาเซรามิกในเตาแบบชัตเติลแต่ละครั้งจะใช้แอลพีจีประมาณ 240 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 7,200 บาท ดังนั้น หากเปลี่ยนมาใช้แก๊สชีวมวล จะใช้เชื้อเพลิงประมาณ 1,120 กิโลกรัม คิดเป็นเงิน 3,360 บาท จะเห็นได้ว่าการพัฒนาจากระบบเดิมที่ใช้แอลพีจี เปลี่ยนมาใช้แก๊สชีวมวล จะช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ 20-60%
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมายคลิกที่นี่เลย!! * * *

กำลังโหลดความคิดเห็น