xs
xsm
sm
md
lg

ขอเถอะ! “รถเมล์เพื่อคนพิการ” เลิกจำกัดสิทธิพวกเราเสียที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ท่ามกลางคำพูดสวยหรูอย่าง “ประชาธิปไตย” ที่ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมในฐานะ “มนุษย์หรือพลเมืองคนหนึ่ง” ของประเทศ แต่ดูเหมือนว่าความเท่าเทียมกันจริงๆ ยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีปัญหาทางด้านร่างกายหรือคนพิการ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
ว่ากันง่ายๆ แค่เรื่องการเดินทางของผู้พิการก็เป็นเรื่องยากลำบากเสียแล้ว!!

หากเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ยกตัวอย่างง่ายๆ “ญี่ปุ่น” การจะข้ามถนนบนทางม้าลาย สำหรับผู้พิการทางสายตาก็จะมีทางเท้าสำหรับคนพิการโดยเฉพาะที่สร้างไว้อย่างดี ไม่ชำรุดแล้วชำรุดอีกเหมือนทางเท้าบ้านเรา ที่บางช่วงนึกอยากมีก็มี บางช่วงนึกอยากไม่มีก็ไม่มีเสียอย่างนั้น แถมของต่างประเทศยังทำทางสำหรับคนพิการยาวไปถึงขณะข้ามถนนด้วย

นอกจากนี้ สัญญาณไฟจราจร เขียว เหลือง แดง ที่มีไว้สำหรับคนที่ตาดีมอง ก็ยังมีเสียงเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกให้คนพิการทางสายตารับรู้ด้วยว่าเสียงนี้ข้ามถนนได้แล้วหรือยัง หรือยังต้องรอสัญญาณก่อน

หรือแม้แต่การขึ้นลงอาคารของผู้พิการที่ต้องนั่งรถวีลแชร์ ก็มีเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ทำทางลาดสำหรับคนพิการหรือผู้สูงอายุที่จำเป็นต้องใช้รถเข็น และมีขนาดที่ได้มาตรฐาน เห็นได้ชัดว่าความสะดวกสบายหรือสิ่งที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต “นอกบ้าน” สำหรับคนพิการของประเทศไทยยังด้อยอยู่มาก เรียกได้ว่าแทบจะถูกจำกัดสิทธิในการใช้ชีวิตนอกบ้านก็ว่าได้

ทั้งที่ “คนพิการก็ยังต้องการดำเนินชีวิตอยู่เช่นเดียวกับคนทั่วไป อยากมีโอกาสในการตัดสินใจในเรื่องที่กระทบต่อชีวิตตน สามารถเลือกดำเนินกิจกรรมตามที่ต้องการ หากจะมีข้อจำกัดก็เป็นข้อจำกัดเช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป เช่น กฏเกณฑ์ทางสังคม ดินฟ้าอากาศ ไม่ใช้ถูกจำกัดเพียงเพราะสภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่โหดร้ายอย่างมากสำหรับพวกเขา

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดรัฐบาลมีนโยบายรถเมล์สาธารณะเพื่อคนพิการ โดยให้รถเมล์มีลักษณะชานต่ำ (Low Floor) ที่มีพื้นรถภายในห้องโดยสารเรียบและไม่มีขั้นบันไดบริเวณประตูกลางรถ (No Step Bus) เพื่อให้คนพิการ สามารถพาวีลแชร์คู่ใจขึ้นไปได้ ซึ่งจะพูดว่าอำนวยความสะดวกแก่คนพิการอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะยังมีผู้สูงอายุ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้ที่มีรถเข็นเด็กอ่อน และคนที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง ที่จะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ จึงเปรียบเสมือนเป็นการจุดประกายในชีวิตของพวกเขา

แต่จนวันนี้ก็ยังไม่มีวีแววว่าจะได้ใช้รถดังกล่าวจริง!!

น.ส.อาภาณี มิตรทอง ตัวแทนเครือข่ายผู้พิการ ได้แสดงความคิดเห็นไว้ว่า การที่จะจัดทำรถเพื่อคนพิการขึ้นมานั้นภาครัฐจะต้องให้คนพิการไปมีส่วนร่วมช่วยคิดว่า สิ่งที่ต้องการที่จะสามารถตอบสนองความต้องการได้นั้นเป็นอย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาคนในสังคมมักจะคิดว่าหากทำระบบขนส่งให้ดีขึ้นจะมีคนพิการออกมาใช้หรือ ซึ่งนั่นเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง ที่เห็นว่าคนพิการออกมาใช้ชีวิตน้อยมาก ไม่ใช่เพราะคนพิการมีจำนวนน้อย แต่เป็นเพราะคนพิการออกมาในสังคมไม่ได้ คนพิการไม่มีรถเมล์ที่สามารถขึ้นได้ ทำให้เป็นพวกที่ถูกลืม ทั้งที่ประเทศไทยมีคนพิการถึง 1.8 ล้านคน เหล่านี้ควรได้รับบริการพื้นฐานนี้บ้าง

ทุกวันนี้คนพิการเกือบ 90% ต้องไปไหนมาไหนโดยรถแท็กซี่ ทำให้เสียค่าใช้จ่ายไปกับค่ารถสูงมาก มีเพียง 10% เท่านั้นที่ใช้รถขนส่งสาธารณะ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีรายได้ต่ำ จึงคิดว่าหากมีระบบขนส่งสำหรับพวกเขาจะส่งผลให้คุณภาพชีวิตพวกเขาดีขึ้น มีโอกาสในการศึกษา และการงานมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญยังจะทำให้คนพิการรู้สึกว่าตัวเองเป็นพลเมือง ไม่ใช้คนชายขอบแบบเดิม” น.ส.อาภาณีกล่าว

หากสังคมมีระบบที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนพิการ ไม่มีเหตุผลใดที่กลุ่มคนพิการจะปฏิเสธ ไม่อยากออกมาใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ และเข้ามามีบทบาทในสังคมมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้สังคมจะต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศคติกันอีกมาก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ น.อ.ภราดร คุ้มทรัพย์ ผอ.ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการ พญาไท กรุงเทพฯ กล่าวว่า เชื่อว่าหากมีระบบขนส่งเพื่อคนพิการจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติของคนในสังคมได้ เพราะเมื่อสังคมเห็นภาพที่คนพิการจะต้องขึ้นรถเมล์ หรือทำอะไรได้คนเดียวมันจะทำให้เกิดคำถามในใจขึ้นมา และเกิดความคิดที่อยากจะช่วยเหลือ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจจะดูว่าเล็กน้อย แต่คนเชื่อว่ามันจะทำให้สังคมดีขึ้น

ด้านการเปลี่ยนแปลงสำหรับตัวคนพิการเอง น.อ.ภราดรเล่าว่า หากประเทศไทยมีรถเมล์สาธารณะสำหรับคนพิการจริงจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายมิติ เช่น คนพิการไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้โดยสะดวกทำให้ต้องไปเช่าบ้าน หรือหอพักใกล้ๆกับสถานที่ทำงานทำให้ไม่ได้อยู่กับครอบครัว

แน่นอนว่าหากระบบขนส่งดีมิติทางด้านครอบครัวก็จะเกิดขึ้น พวกเข้าจะได้อยู่กับครอบครัวมากขึ้น มิติต่อมาคนพิการมีทางเลือกน้อยบางคนจึงถูกจำกัดการทำงานด้วยระบบขนส่งทั้งๆที่จริงแล้วพวกเขามีศักยภาพพอที่จะสามารถเดินทางไปทำงานนอกบ้านได้ และตอนเย็นก็สามารถกลับมาอยู่กับครอบครัวได้ ดังนั้นเรื่องการเดินทางจึงเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับคนพิการเป็นอย่างมากเนื่องจากว่าบางคนต้องเลือกที่จะทำใกล้บ้านเพราะการเดินทางลำบาก และบางคนเลือกที่จะออกไปอยู่นอกบ้านเพื่อให้เดินทางไปทำงานได้สะดวก ผมคิดว่าหากทำได้จริงๆรถเมล์สาธารณะเพื่อคนพิการนั้นจะเป็นของขวัญชิ้นพิเศษมากๆสำหรับพวกเขา

แม้รถเมล์เพื่อคนพิการจะเป็นเพียงโครงการเดียวที่ช่วยให้การดำเนินชีวิตของคนพิการมีความสะดวกขึ้น และยังไม่ครอบคลุมไปถึงการอำนวยความสะดวกด้านอื่นก็ตาม แต่คนพิการที่มีมากถึง 1.8 ล้านคนก็ยังคงรอคอยความหวังที่จะออกไปใช้ชีวิตนอกบ้านได้เหมือนคนปกติเสียที โดยที่ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่าคนปกติทั่วไป ก็ได้แต่หวังว่าโครงการนี้จะคลอดออกมาเพื่อคนพิการโดยเร็ว ไม่ใช่เพียงขายฝันลมๆแล้งๆ และสุดท้ายก็กลายเป็นฝันค้างและฝันร้ายของคนพิการ


กำลังโหลดความคิดเห็น