xs
xsm
sm
md
lg

คนพิการจี้รัฐปรับเบี้ยยังชีพเท่าผู้สูงอายุ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คนพิการจี้รัฐปรับเบี้ยคนพิการเท่าผู้สูงอายุ แนะ พม.พัฒนาศักยภาพผู้พิการ ดันหน่วยงานรัฐรับผู้พิการเข้าทำงาน

พันตรี ศิริชัย ทรัพย์ศิริ นายกสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล (ส.พ.ค.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมการจัดงานคนพิการแห่งชาติครั้งที่ 48 สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับคณะกรรมการจัดงานว่า จากสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองทางคณะกรรมการจัดงานมีมติเห็นควรให้มีการเลื่อนการจัดงานคนพิการแห่งชาติ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ที่บริเวณสวนอัมพร ออกไปไม่มีกำหนด เพื่อความปลอดภัยของคนพิการกว่าแสนคนที่จะเดินทางมาร่วมงาน อย่างไรก็ตามประเทศไทยมีกฎหมายที่ระบุว่ารัฐบาลควรมีการจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการตามความเหมาะสม ขณะที่ผู้พิการทางการเคลื่อนไหว ซึ่งต้องใช้รถวีลแชร์กว่า 3 ล้านคน แต่รัฐจัดให้เพียงปีละพันคัน ก็ไม่เพียงพอ ซึ่งกฎหมายของไทยดีมาก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศเพื่อนบ้าน แต่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม และที่ผ่านมาพูด หรือรับปากว่าจะดำเนินการสวัสดิการให้ แต่ก็ไม่ทำตามคำพูด เพราะไม่ให้ความสำคัญ

พันตรี ศิริชัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้อยากเสนอให้รัฐบาลเร่งปรับระดับเงินเบี้ยยังชีพคนพิการเทียบเท่ากับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้พิการมีความยากลำบากในการใช้ชีวิตมากกว่าผู้สูงอายุ ขณะที่ผู้พิการบางคนอายุ 90 ปีแล้วก็ยังได้เพียงเงินเบี้ยยังชีพคนพิการเพียง 500 บาทต่อเดือนเท่านั้น แต่ผู้สูงอายุปรับเงินเบี้ยยังชีพเป็นขั้นบันได ตามอายุ โดยได้สูงสุดอยู่ที่ 1,000 บาทต่อเดือน ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้มีการจัดซื้อรถโดยสารชานต่ำสำหรับผู้พิการนั้น ตนเห็นว่าก็เป็นเรื่องดี แต่เรื่องนี้ผู้พิการจะได้รับประโยชน์เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ถ้ารัฐบาลใส่ใจและเร่งดำเนินการเพิ่มเงินเบี้ยยังชีพคนพิการ ผู้พิการจะได้รับประโยชน์ทั้งหมดทั่วประเทศ

ด้าน นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับคนพิการน้อยมากทั้งในเรื่องของสวัสดิการทางสังคม และเรื่องทัศนคติต่อผู้พิการ โดยก่อนหน้านี้คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ เคยเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาปรับเบี้ยยังชีพคนพิการจาก 500 เป็น 800 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา จนกระทั่งหมดปีงบประมาณ 2556 ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จากที่เคยตกลงว่าจะปรับเพิ่มเป็นขั้นบันได โดยในปี 2557 ปรับเป็น 600 บาท ปี 2558 ปรับเป็น 700 และปี 2559 ปรับเป็น 800 บาท ขณะที่ประเทศไทยมีผู้พิการที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพียง 1.3 ล้านคนเท่านั้น

นายต่อพงศ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้รัฐบาลยังรับข้อเสนอจากเอกชนในเรื่องของการปรับเกณฑ์อัตราจ้างงานผู้พิการเข้าทำงานตามกฎหมาย จากเดิมที่ให้รับผู้พิการเข้าทำงานจาก พนักงานทั่วไป 100 คนต่อผู้พิการ 1 คน เป็นรับพนักทั่วไป 200-300 คนต่อผู้พิการ 1 คน ขณะที่หน่วยงานภาครัฐยังไม่เปิดให้ผู้พิการได้เข้าทำงาน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐก็อยู่ภายใต้กฎหมายเช่นกัน ดังนั้น ตนอยากให้รัฐบาลแสดงความจริงใจกับการให้โอกาสอย่างแท้จริงกับผู้พิการ และเร่งพัฒนาศักยภาพของผู้พิการให้มีความสามารถทัดเทียบคนทั่วไป สามารถทำงานให้หน่วยงานต่างๆได้เช่นคนปกติทั่วไป

ส่วนกรณีข้อเสนอเรื่องการจัดซื้อรถโดยสารสาธารณะชานต่ำสำหรับผู้พิการนั้น นายต่อพงศ์ เสนอว่า เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะจัดซื้อรถโดยสารสาธารณะที่มีชานต่ำ เพราะจะอำนวยความสะดวกให้กับทุกคน ไม่เฉพาะผู้พิการ เพราะตนไม่ได้มองแค่มุมของคนพิการ แต่มองในมุมของความพิการ เพราะคนทุกคนแม้ไม่มีร่างการที่พิการ ก็สามารถมีความพิการได้ชั่วขณะ เช่น หกล้มขาเจ็บ หรือไฟดับ มองไม่เห็น ก็เกิดความพิการได้ ดังนั้น อยากให้สังคมมองภาพกว้างว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เอื้อให้กับคนทุกคน ไม่ใช่แต่คนพิการ หากรถมีชานต่ำ ผู้หญิงที่ใส่กระโปร่งแคบๆถือของมากๆ เวลาขึ้นลงรถก็สะดวก หรือแม้แต่ผู้สูงอายุ ถ้ามีพื้นต่ำๆให้ก้าวขึ้นรถลงรถ ก็อำนวยความสะดวกเช่นกัน จึงคิดว่าหากรัฐบาลจะมีโครงการใดๆ หากสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้เอื้อให้กับคนทุกกลุ่ม ก็ไม่ต้องทำอะไรที่ซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองงบประมาณ


กำลังโหลดความคิดเห็น