xs
xsm
sm
md
lg

นิด้าโพล ฟันธง นศ.ไทย 9 หมื่นคนทุจริตสอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นิด้าโพล ชี้ นศ.ไทยเกือบ 9 หมื่นคนทุจริตสอบ “สมคิด” ห่วงการลอกในระดับมหา’ลัยเป็นเรื่องใหญ่ เตรียมหารือ ทปอ.เดือนธันวาคม ขอความร่วมมือมหา’ลัยรณรงค์ต้านโกงต่อเนื่อง

วันนี้ (22 พ.ย.) ที่อิมแพ็คฟอรั่ม เมืองทองธานี รศ.พาชิตชนัต ศิริพานิช อาจารย์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวนำเสนอผลสำรวจแบบสอบถามทัศนคตินิสิต นักศึกษาเรื่อง “ทัศนคติของนิสิตนักศึกษาต่อการทุจริต การโกง ในการเรียนการสอบ” ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ในงานประชุมวิชาการ ทปอ.ประจำปี 2556 ในหัวข้อ “บัณฑิตไทย คนรุ่นใหม่หัวใจคุณธรรม” ตอนหนึ่ง ว่า ทปอ.ได้มอบให้นิด้าโพลสำรวจเรื่องดังกล่าว ซึ่งผลการสำรวจนิสิต นักศึกษา จำนวน 5,654 คน จาก 23 สถาบัน ใช้วิธีกรอกข้อมูลทางออนไลน์ ปรากฏผลสำรวจเบื้องต้น ดังนี้ การทุจริตการสอบ พบว่า นิสิตนักศึกษา 16.3% เคยทุจริตในการสอบ ขณะที่ 29.7% เคยช่วยเพื่อนทุจริตในการสอบ แต่ที่น่าห่วงมากที่สุด คือ นักศึกษาที่ทุจริตหรือช่วยเพื่อนทุจริต มองว่าการทุจริตไม่ผิดหรือผิดน้อย และนักศึกษาที่เคยช่วยเพื่อนทุจริต ทราบว่า การทุจริตเป็นเรื่องร้ายแรงน่าละอาย แต่ก็ยังทำเป็นประจำ

“นิสิต นักศึกษาทั้งประเทศมีประมาณ 6.4 แสนคน ฉะนั้นหากเทียบผลสำรวจที่ระบุว่านิสิต นักศึกษาเคยลอกข้อสอบ 16.3% จะได้ประมาณการภาพรวมนิสิต นักศึกษาเคยลอกข้อสอบแล้วประมาณเกือบ 9 หมื่นคน ซึ่งถือว่าน่าตกใจ”รศ.ดร.พาชิตชนัต กล่าว

รศ.ดร.พาชิตชนัต กล่าวต่อไปว่า ส่วนผลการสำรวจเกี่ยวกับการคัดลอกงานผู้อื่นโดยไม่อ้างอิง พบว่า Project หรือ Mini project เป็นงานนักศึกษาที่มีการลอกงานคนอื่นโดยไม่อ้างอิงมากที่สุด ขณะที่นักศึกษามากกกว่าครึ่งจะอ้างว่า หาแหล่งอ้างอิงไม่ได้ และลอกไม่มาก และนักศึกษาส่วนใหญ่ทราบว่าการลอกงานคนอื่นโดยไม่อ้างอิง เป็นความผิดร้ายแรง น่าละอายแต่ก็ยังทำ นอกจากนี้นิสิตนักศึกษาเห็นว่า พฤติกรรมไม่พึ่งประสงค์ที่นิสิต นักศึกษาทำมากที่สุด เกี่ยวกับการเมือง คือไม่ไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ใช้เวลางานไปทำงานส่วนตัว และใช้เส้นสายในการติดต่อราชการ รวมทั้งนักศึกษาคิดว่าการติดสินบนเจ้าพนักงาน เพื่อให้ทำผิดกฎหมายหรือเพื่อให้พ้นจากโทษตามกฎหมายเป็นความผิดร้ายแรง น่าละอาย และมีนิสิตนักศึกษาไม่เกิน 5% ที่เคยติดสินบน

ศ.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) และในฐานะประธาน ทปอ.กล่าวว่า คาดว่าจะจัดทำผลสำรวจที่เสร็จสมบูรณ์ได้ในเดือนธันวาคมนี้ จากนั้นจะรายงานใน ทปอ.เพื่อขอให้แต่ละมหาวิทยาลัยร่วมรณรงค์ต่อ อย่างไรก็ตาม การลอกในระดับมหาวิทยาลัยถือเป็นเรื่องใหญ่ และความจริงอาจมีมากกว่าที่ผลสำรวจระบุ แต่จับไม่ได้เท่านั้น ฉะนั้นเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งต้องไปตรวจสอบแก้ไข ส่วนปัญหาที่ใหญ่ขึ้นมา อาทิ การลอกวิทยานิพนธ์ ลอกผลงานทางวิชาการ เรื่องนี้เราไม่ค่อยห่วง เพราะปัจจุบันทุกมหาวิทยาลัยมีระบบซอฟต์แวร์คอยตรวจสอบอยู่ โดยหากตรวจพบว่าลอกมาจริง ก็จะพิจารณาไม่ให้ได้รับปริญญาบัตร


กำลังโหลดความคิดเห็น