xs
xsm
sm
md
lg

หยุดสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ เด็กเป็นหืดไม่ต้องนอน รพ.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
“หมอประกิต” ระบุกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ลดการอยู่โรงพยาบาลของเด็กที่เป็นหืด ซึ่งตรงกับผลวิจัยของอังกฤษ ช่วยเด็กเข้าไปรักษาตัวในโรงพยาบาลลดลง

ทีมนักวิจัยจากอิมพีเรียล คอลเลจ ประเทศอังกฤษ ทำการศึกษาจำนวนเด็กที่เป็นโรคหืด ที่ถูกรับเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ก่อนและหลังการบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะทุกแห่งในประเทศอังกฤษ พบว่า อัตราการเข้าอยู่โรงพยาบาลของเด็กที่ป่วยเป็นโรคหืดลดลงปีละ 3.4% ต่อปี ระหว่างปี 2553-2555 คิดเป็นจำนวนการอยู่โรงพยาบาลที่ลดลง 6,802 คน หรือเฉลี่ยลดลง 2,267 คนต่อปี ผลวิจัยนี้สรุปได้ว่าการห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ลดจำนวนเด็กที่ป่วยเป็นโรคหืด

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า โรคหืดเป็นโรคที่หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่ถูกหายใจเข้าสู่หลอดลม ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ ไร สารเคมี หรือควันบุหรี่ โดยเฉพาะควันบุหรี่ซึ่งมีสารเคมีนับพันชนิด และมีสารพิษกว่า 250 ชนิด เมื่อถูกหายใจเข้าสู่หลอดลม จะทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุหลอดลม ทำให้เกิดการหดเกร็งของหลอดลม ทำให้เกิดอาการหืดจับ ถ้ามีอาการรุนแรง ก็ต้องถูกรับตัวเข้ารักษาในโรงพยาบาล

ในสังคมที่ยังมีการสูบบุหรี่ ผู้ป่วยโรคหืดมีโอกาสได้รับควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ หรือควันบุหรี่มือสอง จากสถานที่สาธารณะหรือจากในบ้าน กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะจะลดโอกาสที่ผู้คนทั่วไป รวมถึงคนที่เป็นหืดจะได้รับควันบุหรี่ เมื่อไม่ได้รับควันบุหรี่ โอกาสที่จะเกิดอาการหืดจับก็จะมีน้อยลง

ในส่วนของการสูบบุหรี่ในบ้าน ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้คนที่เป็นหืดในบ้านเดียวกัน เกิดอาการหืดจับได้เช่นกัน แม้จะไม่มีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในบ้าน ผู้สูบบุหรี่ก็ไม่ควรสูบในบ้าน ที่มีผู้เป็นโรคหืด โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง หรือโรคถุงลมโป่งพอง เพราะคนที่เป็นโรคเหล่านี้อาการจะกำเริบขึ้นได้ หากได้รับควันบุหรี่


กำลังโหลดความคิดเห็น