xs
xsm
sm
md
lg

อำลา อาลัย เกรียงไกร…ไชยยศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ

เช้าวันอาทิตย์ที่ 3 พฤศจิกายน 2556 ผมกำลังกวาดใบไม้ที่ร่วงหล่นอยู่บนสนามหญ้า พลางนึกในใจว่าจะรับมือกับการร่วงหล่นของใบไม้สำหรับหน้าหนาวปีนี้อย่างไร

แล้วข่าวการจากไปของอาจารย์ไชยยศก็เข้าสู่การรับรู้ของผม

ลมหนาวพัดมาวูบหนึ่งพร้อมๆ กับใบไม้ที่ปลิวหล่นมาอีกระลอก แล้วโลกทั้งโลกดูราวกับหยุดนิ่ง ไม่ได้ยินเสียง พร้อมกับภาพรอบข้างที่เริ่มพร่ามัว

ผมเข้ามาทำงานที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในปี 2547 เริ่มต้นที่สำนักบริหารการชดเชยค่าบริการ มีนายแพทย์ประจักษวิช เล็บนาค เป็นผู้อำนวยการ ภารกิจของสำนักก็คือการตรวจสอบและประมวลผลการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายระบบหลักประกันสุขภาพ ด้วยความที่มีโรงพยาบาลในเครือข่ายกว่าหนึ่งพันแห่ง และข้อมูลการให้บริการทางการแพทย์มีจำนวนมาก จึงออกแบบให้โรงพยาบาลส่งข้อมูลเป็นอิเล็กทรอนิกส์ และได้ว่าจ้างสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) ให้ทำหน้าที่พัฒนาโปรแกรมการรับข้อมูลการให้บริการและขอเบิกเงินชดเชย ตลอดจนการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลในเบื้องต้นก่อนจะส่งข้อมูลให้ สปสช.เพื่อจ่ายเงินชดเชย

การพัฒนาโปรแกรมจะต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขการจ่ายเงินชดเชย ในสมัยนั้นจึงกำหนดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง สปสช.และ สกส.เป็นประจำเดือนละครั้งเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและร่วมกันพัฒนาระบบ และที่นั่นเอง ที่ผมได้มีโอกาสได้รู้จักกับอาจารย์ไชยยศเป็นครั้งแรก

สกส.ในสมัยนั้นมีขุนพลหลักอยู่ 3 ท่านที่พวกเราแอบเรียกกันว่าเป็น “ฮก ลก ซิ่ว” หนึ่งในนั้นคือ อ.นพ.สุชาติ สรณสถาพร หนึ่งในนั้นคือ อ.นพ.ชัยโรจน์ ซึงสนธิพร และหนึ่งในนั้นคือ อ.นพ.ไชยยศ ประสานวงศ์ ทั้งสามท่านเป็นส่วนผสมที่ลงตัวอย่างที่สุดในการทำงานเชิงข้อมูล อ.สุชาติ เชี่ยวชาญในเรื่องตรรกะ ความคิดเชิงระบบ และเกาะติดการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ อ.ชัยโรจน์ นอกจากเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ชำนาญภาษา xBase ที่หาตัวจับยากแล้ว ยังเป็นตำนานของการพัฒนาระบบ DRGs ของประเทศไทย ส่วน อ.ไชยยศ มีความชำนาญทั้งการเขียนโปรแกรมและเป็นผู้เชี่ยวชาญการให้รหัสโรค รหัสหัตถการตามระบบ ICD (International Classification of Disease) ระดับต้นๆ ของประเทศไทย

ในช่วงต้นปีงบประมาณ สปสช.จะต้องออกบรรยายแนวทางการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลในเครือข่ายหลักประกันสุขภาพทั่วประเทศ เนื้อหาหลักจะแบ่งเป็นสองวัน วันแรกจะเป็นการบรรยายเชิงนโยบายและแนวทาง/หลักเกณฑ์การจ่ายเงินชดเชย รวมทั้งตอบปัญหาข้อข้องใจในเรื่องเงื่อนไขการจ่ายเงิน โดยทีมงานจาก สปสช.ส่วนวันที่สองจะเป็นการบรรยายการใช้งานโปรแกรมการบันทึกข้อมูล รวมทั้งการให้รหัสโรค/รหัสหัตถการ โดยอาจารย์ไชยยศจะมาบรรยายด้วยตนเอง และเป็นช่วงเวลาที่โรงพยาบาลจะได้รับความรู้ในเรื่องรหัสโรค รหัสหัตถการรวมทั้งความรู้เรื่อง DRGs เป็นอย่างมาก

นอกจากเจ้าหน้าที่งานประกันจากโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้ว ผมก็พลอยได้รับความรู้จากอาจารย์ไชยยศไปด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการทำงานและในการพัฒนาระบบการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ

เกือบสิบปีที่รู้จักอาจารย์ ไม่เคยเห็นอาจารย์เคยโกรธใครหรืออารมณ์เสียเรื่องไหน ทุกอย่างเกิดขึ้นและดับไปได้เองทั้งสิ้น ภาพที่เห็นจนคุ้นชินก็คือ ชายวัยกลางคน รูปร่างพอสันทัด ผมหยักโศก นั่งง่วนอยู่กับ Notebook และหนังสืออ้างอิง หรือบรรยายวิชาการด้วย Slide ที่สวยงาม ชัดเจน แฝงด้วยมุกตลกชั้นสูง ที่กว่าผู้ฟังจะรู้ตัวก็เมื่อกลับไปถึงบ้านแล้ว

ความจริงก็คือ เราไม่มีทางห้ามใบไม้ไม่ให้ร่วงหล่นจากต้นได้เลย ความจริงเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับ และวัตรปฏิบัติที่สวยงามต่างหากที่คนรุ่นหลังควรยึดเป็นแบบอย่าง

อาจารย์ไชยยศได้จากพวกเราไปแล้ว แต่ผลงานที่อาจารย์ได้ทำไว้ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา จะเป็นกำลังใจ เป็นแรงบันดาลใจ เป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและรุ่นต่อไป

ไม่แน่ใจว่าจะระลึกถึงอาจารย์ได้นานเพียงไร แต่ที่มั่นใจก็คือ “พวกเรา” จะระลึกถึงอาจารย์ทุกครั้งที่มีโอกาสได้ใช้รหัสโรค รหัสหัตถการ ที่อาจารย์ได้ตั้งใจ ทุ่มเท จนเป็นรูปเป็นร่างและเป็นมาตรฐานสำหรับระบบสาธารณสุขของไทยไปแล้วในทุกวันนี้

หลับให้สบายนะครับ.
 


กำลังโหลดความคิดเห็น