xs
xsm
sm
md
lg

“ริบบิ้นสีขาว” สัญลักษณ์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนแห่งการ “รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี” และ “ริบบิ้นสีขาว” (White Ribbon) ถูกนำมาเป็นสัญญลักษณ์แห่งการรณรงค์

ทำไมต้อง “ริบบิ้นสีขาว” ?

ย้อนไปสู่จุดเริ่มต้น...ที่ประเทศแคนาดา เมื่อปี ค.ศ.1991 (พ.ศ. 2534) ภายหลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่นักศึกษาหญิงของมหาวิทยาลัยมอนทรีออล จำนวน 14 คน โดยกลุ่มที่ทำการรณรงค์ครั้งแรกเป็นกลุ่มนักศึกษาชายจำนวน 1 แสนคน ที่ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาความรุนแรงต่อสตรี และต้องการยุติปัญหาดังกล่าว จึงได้เรียกร้องให้ผู้ชายทั่วโลกร่วมรับผิดชอบต่อปัญหาความรุนแรงต่อสตรี รวมทั้งแสดงตนว่าจะไม่ทำความรุนแรงต่อสตรี โดยการติดสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาวที่ปกเสื้อ ซึ่งหมายถึง การยอมรับว่าจะไม่ทำร้าย หรือ นิ่งเฉย ต่อการใช้ความรุนแรงต่อสตรีในทุกรูปแบบ
ริบบิ้นสีขาว
ต่อมาในปี 1999 (พ.ศ. 2542) องค์การสหประชาชาติได้รับรองให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวัน “ขจัดความรุนแรงต่อสตรีสากล” และในประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2542 กำหนดให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เพื่อมุ่งเน้นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงทั้งต่อเด็กและสตรี โดยดำเนินการการณรงค์ตลอดเดือนพฤศจิกายนให้สังคมได้ตระหนักและร่วมป้องกันขจัดความรุนแรงต่อเด็กสตรีให้หมดสิ้นไป

สำหรับความหมายของสัญลักษณ์ริบบิ้นสีขาว (White Ribbon) นั้น เป็นสัญลักษณ์ที่ผู้ชายติดเพื่อแสดงถึงการร่วมต่อต้านการใช้ความรุนแรงต่อสตรี โดยการ “ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี” ทุกรูปแบบ แต่ปัจจุบันสัญลักษณ์นี้ใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อเป็นการร่วมกันรณรงค์ยุติความรุนแรงในครอบครัวด้วย

อย่างไรก็ตามความสำคัญที่จำเป็นจะต้องมีการยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี เนื่องมาจากว่าปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น พบว่าผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย กล่าวคือมากกว่าร้อยละ 90 ทั้งนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายเหล่านี้เป็นคนไม่ดี เพราะโดยธรรมชาติแล้วไม่มีใครที่ชอบใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหา แต่คนที่ใช้ความรุนแรงนั้นมักจะมีประสบการณ์ไม่ดีในวัยเด็ก หรือค่านิยมดั้งเดิมที่ปลูกฝังว่า การใช้ความรุนแรงเป็นอำนาจที่จะใช้ควบคุมหรือบังคับผู้อื่นได้ ทั้งนี้ปัญหาความรุนแรงไม่ได้มีเฉพาะการทำร้ายร่างกายเท่านั้น ยังพบว่ามีหลายรูปแบบ เช่น การใช้ความรุนแรงต่อจิตใจ อารมณ์ การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน และความรุนแรงที่แสดงออกทางพฤติกรรมอื่นๆ ซึ่งความรุนแรงเหล่านี้มักไม่ค่อยมีการพูดถึงกัน จึงทำให้ปัญหาความรุนแรงยังคงสะสมอยู่ตลอดเวลา

ดังนั้นการรณรงค์ติดริบบิ้นสีขาวจึงเป็นการรณรงค์สำหรับผู้ชายโดยเฉพาะ เพื่อให้ผู้ชายทุกคนได้ปรับเปลี่ยนเจตคติและมีส่วนร่วมในการยุติปัญหาความรุนแรงต่อสตรี โดยเห็นว่าความรุนแรงต่อสตรีเป็นปัญหาสำคัญสมควรได้รับการแก้ไข เนื่องจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ได้มีผล กระทบต่อผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน สังคม ชุมชน จึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันอย่างจริงจัง
 

กำลังโหลดความคิดเห็น