xs
xsm
sm
md
lg

ขยายสายด่วนเรียกรถพยาบาล ให้บริการคำปรึกษาเจ็บป่วยฉุกเฉินแบบเบาๆ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.พัฒนาสายด่วนเรียกรถพยาบาล 1669 เป็นสายด่วนหมอประจำตัว ให้คำแนะนำการดูแลหากเกิดอุบัติเหตุฉุกเฉินไม่รุนแรง หวังลดการเรียกรถพยาบาล และความแออัดในโรงพยาบาล

วันนี้ (14 พ.ย.) ที่โรงแรมทีเคพาเลซ กทม. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังมอบนโยบายการพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ว่า ตนได้ชี้แจงเรื่องการแยกบทบาทหน้าที่ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ให้เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมมาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพต่างๆ ที่จะทำงานร่วมกันในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ทั้งโรงพยาบาลในและนอกสังกัด สธ.และ อปท.โดยจะกำหนดภารกิจของแต่ละพื้นที่ในการดูแลผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินให้ชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ จะส่งเสริมขยายบทบาทบริการของสายด่วน 1669 ไม่ใช่เป็นแค่เบอร์โทร.เรียกรถพยาบาลเท่านั้น แต่ให้เป็นสายด่วนหมอใกล้ตัวประจำตัวเวลาเจ็บป่วยฉุกเฉิน

สายด่วนดังกล่าวจะให้คำปรึกษาแนะนำวิธีการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลได้ เพราะอาการเจ็บป่วยบางครั้งไม่จำเป็นต้องไปโรงพยาบาลก็ได้ หรือไม่จำเป็นต้องส่งรถพยาบาลไปรับ หากได้รับคำปรึกษาแนะนำที่ถูกต้องจากบุคลากรทางการแพทย์จากสายด่วนดังกล่าว เช่น กรณีอุบัติเหตุทั่วไป บาดเจ็บเล็กน้อย ประชาชนสามารถช่วยเหลือตนเองได้ สามารถเดินทางไปโรงพยาบาลเองได้ ไม่จำเป็นต้องเรียกรถพยาบาล เป็นต้น” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า การพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน จะเน้นการสร้างมาตรฐาน 2 ส่วนคือ คุณภาพบริการและคุณภาพการรักษาพยาบาล กำหนดให้ภายในปี 2559 ท้องถิ่นมีระบบบริการการเเพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานทุกแห่ง ซึ่งการพัฒนาระบบ สธ.มีนโยบาย 5 ข้อ คือ 1.ผลิตบุคลากรทางการแพทย์ เเละทีมกู้ชีพให้เป็นระดับมืออาชีพ 2.พัฒนามาตรฐานการบริการดูแลผู้เจ็บป่วยก่อนถึงโรงพยาบาล 3.พัฒนาระบบการส่งต่อผู้ป่วย การดูแลระหว่างโรงพยาบาล 4.จัดระบบเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์สาธารณภัยและอุบัติเหตุหมู่ และ 5.ยุทธศาสตร์ด้านการบริหารจัดการ การขับเคลื่อนองค์กร การเงิน กฎหมาย ระบบข้อมูล และสร้างการมีส่วนร่วมขององค์กรท้องถิ่นและประชาสังคม โดยปีงบประมาณ 2557 ตั้งเป้าหมายให้บริการผู้ป่วยหนักวิกฤตเร่งด่วนภายใน 10 นาทีหลังรับแจ้งเหตุ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของปฏิบัติการทั้งหมด

ภายใน 5 ปีนี้ จะเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการช่วยเหลือจากทีมกู้ชีพให้ได้ 10 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นปีละ 2 ล้านคน โดยจะมีการพัฒนาการบริหารจัดการ การให้บริการที่ได้มาตรฐานทั้งในระดับโรงพยาบาลทั่วประเทศ อปท.ให้สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ด้วยตนเอง รวมทั้งการจัดการบริหารข้อมูลต่างๆ การให้ความรู้ประชาชนในการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ให้สามารถปฐมพยาบาลรักษาชีวิตในเบื้องต้นได้” รมว.สาธารณสุข กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น