xs
xsm
sm
md
lg

โฉมหน้าใหม่ ม.190 ให้รัฐพองใหญ่ แต่ประชาชนลีบเล็ก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...รศ.ดร.ภญ.นุศราพร เกษสมบูรณ์

หน้าตา ม.190 หลังรัฐสภาผ่านร่างแก้ไขในวาระ 2 เมื่อคืนวันที่ 16 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตัดขั้นตอนการเสนอกรอบการเจรจาความตกลงด้านการค้าและการลงทุนเพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา และตัดการศึกษาผลกระทบต่อประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากหนังสือสัญญาออก ส่งผลให้กระบวนการเจรจาขาดความโปร่งใส ประชาชน และรัฐสภาจะมีส่วนร่วมก็ต่อเมื่อการเจรจาจบสิ้นไปแล้ว ซึ่งแทบจะไม่มีความหมาย

รัฐบาลไทยเริ่มมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการใช้แนวทางเจรจาการค้าเสรี และขยายขอบเขตการเจรจากับประเทศคู่ค้าต่างๆ อย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ปัจจุบันประเทศไทยมีการเจรจาการค้าเสรีทั้งทวิภาคีและระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา โดย FTA ที่เจรจาเสร็จและมีผลใช้บังคับแล้ว ๑๐ ประเทศ/กลุ่ม ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชน บางมิติของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการขยายโอกาสในการพัฒนาการค้า แต่ในอีกหลายมิติก็นำมาซึ่งภัยคุกคามแก่ชีวิตและสุขภาพของประชาชน

ดังนั้น ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 จึงได้ระบุให้ ก่อนหรือหลังการทำหนังสือสัญญาควรให้มีกระบวนการที่ตรวจสอบได้ ต้องรับฟังความเห็นของประชาชนตั้งแต่แรก ซึ่งหมายถึงก่อนการกำหนดกรอบการเจรจา และรัฐสภาต้องให้ความเห็นชอบในกรอบการเจรจานั้นก่อนที่จะเปิดการเจรจาในรายละเอียดต่อไป โดยหลักการนี้ใช้ในสหรัฐอเมริกาเช่นกัน ตามกฎหมายการค้าของสหรัฐฯ (US Trade Act 2002 Section 2004 (a) กำหนดให้ฝ่ายบริหารต้องเสนอกรอบการเจรจาการค้ากับต่างประเทศ ต่อสภา Congress ไม่น้อยกว่า 90 วัน)

กระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนที่ใช้เพื่อประกอบการกำหนดกรอบการเจรจา มีข้อดีหลายประการ เช่น 1) ทำให้มีเวลาในการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นระหว่างผู้มีส่วนได้เสีย 2) เปิดโอกาสให้ประชาชนได้นำเสนอข้อมูลและสะท้อนระดับความห่วงกังวลของตนต่อความตกลงการค้า และ 3) เป็นเวทีทำความเข้าใจเพื่อป้องกัน และ/หรือ แก้ไขปัญหาความขัดแย้งเกี่ยวกับความตกลงการค้าและผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

หากการเจรจาการค้าเสรีที่จะเกิดขึ้นจากอานิสงส์ของ มาตรา 190 ทำให้ละเลยกระบวนการนี้ สุดท้ายความตกลงทางการค้าต่างๆ จะถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

ถ้าจะทำให้การเจรจาการค้าและการลงทุน เป็นกลไกที่สามารถยกระดับสุขภาวะของสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน รัฐจำเป็นต้องเปิดให้มีกระบวนการ การมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น เพื่อประกันว่าข้อตกลงการค้าและการลงทุนนั้นได้คำนึงถึงสุขภาพของสาธารณะอย่างแท้จริง น่าเศร้าใจที่ผลการพิจารณาของรัฐสภาที่เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย กลับปิดตา ปิดปากประชาชน โดยที่ประชาชนไม่มีโอกาสได้รับรู้ว่าผู้แทนของพวกเขาจะไปตกลงการค้าในเรื่องไหนบ้าง ไม่มีโอกาสแม้เพียงจะแสดงข้อห่วงกังวลของตนเองต่อกรอบการเจรจาที่ภาครัฐจะดำเนินการ

นี่หรือ คือ ประชาธิปไตย


กำลังโหลดความคิดเห็น