xs
xsm
sm
md
lg

กรมการแพทย์เผยรูปแบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเพิ่มคุณภาพชีวิต (ข่าวประชาสัมพันธ์)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กรมการแพทย์เผยแนวทางดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายในหออภิบาลคุณภาพชีวิตช่วยให้ผู้ป่วย ใช้ชีวิตเสมือนอยู่บ้าน ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น

วันที่ 15 ตุลาคม 2556 ที่โรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ ให้สัมภาษณ์หลังเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “World Hospice and Palliative Care Day” ว่า จากข้อมูลขององค์กรวิจัยมะเร็งนานาชาติโดยองค์การอนามัยโลก คาดการณ์สถานการณ์โรคมะเร็งในประเทศไทยว่า ในปี พ.ศ. 2563 จะมีผู้ป่วยใหม่จำนวน 148,729 ราย และมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิต 95,804 ราย และในปี พ.ศ. 2573 จะมีผู้ป่วยใหม่ จำนวน 176,301 ราย และมีผู้ป่วยมะเร็งเสียชีวิต 120,689 ราย

กรมการแพทย์ในฐานะที่มีบทบาทในการดูแลและรักษาผู้ป่วยมะเร็ง รวมถึงพัฒนา ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ในการรักษาโรคมะเร็งอย่างต่อเนื่อง โดยมีหน่วยงานที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ซึ่งโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรีเป็นหน่วยงานหนึ่งที่ให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายที่ต้องเผชิญกับภาวะที่ต้องอยู่กับความทุกข์ทรมาน ทั้งทางด้านร่างกายจากอาการปวด ความรู้สึกสูญเสียทุกอย่าง ผู้ป่วยจึงต้องการที่พึ่งทางใจเพื่อช่วยเป็นพลังความหวังในการปรับตัวเพื่อก้าวผ่านปัญหาอุปสรรค และก่อให้เกิดความเข้มแข็งภายในตนเอง ซึ่งความรัก ความอบอุ่นในครอบครัวเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่งในการเสริมสร้างพลังดังกล่าว ดังนั้นการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ จึงเน้นการดูแล เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายและครอบครัว จึงได้มีการตั้งหออภิบาลคุณภาพชีวิตขึ้นตั้งแต่ปี 2543 ภายในหอผู้ป่วยมีการจัดสิ่งแวดล้อมให้มีลักษณะคล้ายบ้าน มีห้องหรือมุมต่างๆ เพื่อให้ผู้ป่วยและครอบครัวทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ห้องประกอบกิจกรรม ทางศาสนา ห้องครัว ห้องรับประทานอาหาร มุมพักผ่อน มุมนั่งเล่น เป็นต้น โดยมีรูปแบบการดูแลแบบองค์รวม ลดความทุกข์ทรมาน จากอาการของโรค อาการเจ็บปวดต่างๆ มีการเตรียมความพร้อมของผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องที่บ้านได้อย่างถูกต้อง และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

นายแพทย์ธนเดช สินธุเสก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวเพิ่มเติมว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายเน้นการดูแลเพื่อลดความทุกข์ทรมานจากอาการต่างๆ และให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยมีการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งมีองค์ประกอบได้แก่ ทีมสหสาขาวิชาชีพทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้นำศาสนา นักสงคมสงเคาระห์ เข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยและครอบครัว ให้คำปรึกษา แนะนำ แก่ญาติเพื่อเตรียมสภาพจิตใจ หรือการประกอบกิจกรรมตามความเชื่อทางศาสนา รวมทั้งกิจกรรมมิตรภาพบำบัดที่มีอาสาสมัครทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมทำกิจกรรมกับผู้ป่วยและครอบครัว การนำแพทย์พื้นบ้านและแพทย์ทางเลือก มาผสมผสานในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย การจัดสิ่งแวดล้อมให้มีลักษณะคล้ายบ้าน และทีมเยี่ยมบ้านเพื่อติดตามดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องที่บ้าน

จากการพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายตามรูปแบบดังกล่าว พบว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย และครอบครัวได้รับการดูแลแบบองค์รวม มีการเตรียมความพร้อม และเน้นการตอบสนองคุณภาพชีวิต จากผลสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายในด้านร่างกาย จิตใจ จิตวิญญาณและจิตสังคม จะเห็นได้ว่าผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและครอบครัวของผู้ป่วยมีความพึงพอใจมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้น การดำเนินงานหออภิบาลคุณภาพชีวิตที่มีการพัฒนาแนวทางและวิธีการดูแลผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้ายอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้นแล้วนั้น ยังเป็นศูนย์กลางความรัก ความอบอุ่น และสานสัมพันธ์ในครอบครัว
กำลังโหลดความคิดเห็น