สธ.พบชาวบ้านเดือดร้อนจากน้ำท่วมหนัก ไม่มีส้วมใช้ ถึงขั้นต้องพายเรือไปขึ้นต้นไม้ เบ่งอึลงน้ำท่วม ขณะที่เด็กๆ ยังคงเล่นน้ำท่วมกันสนุกสนาน เสี่ยงโรคแพร่ระบาดเพียบ ด้านสุขภาพอนามัยอื่นๆ แย่เต็มพิกัด ทั้งไม่นอนในมุ้ง ลุยน้ำไม่รีบทำความสะอาด ขณะที่ผู้ใหญ่เมาแอ๋ เสี่ยงจมน้ำตาย วอน ปชช.ถ่ายใส่ถุงพลาสติกรอการกำจัดที่ถูกต้อง

นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พื้นที่ที่น่าห่วงและต้องเฝ้าระวังขณะนี้คือ รพ.พานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งมีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง โดยน้ำรอบโรงพยาบาลสูง 30 เซนติเมตร มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ได้กั้นแนวกระสอบทรายรอบโรงพยาบาลสูง 80 เซนติเมตร และติดเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่องสูบน้ำออกตลอดเวลา และให้บริการประชาชนตามปกติ มีผู้ป่วยนอนรักษา 30 ราย หากระดับน้ำสูงใกล้แนวกระสอบทราย จะย้ายผู้ป่วยไป รพ.ชลบุรี และวางแผนเปิดบริการนอกโรงพยาบาล ที่บริเวณแยกพนัสนิคม
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงพยาบาลที่ยังปิดให้บริการอยู่คือ รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำท่วมลดลงขณะนี้เหลือประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์และในพื้นที่น้ำท่วมอื่นๆ ยังเปิดบริการตามปกติ ส่วนบริการทางการแพทย์จากการประเมินการเข้าถึงอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.ในฐานะประธานวอร์รูมน้ำท่วม สธ.กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัย พบว่าส่วนใหญ่ไม่นอนในมุ้ง และไม่ชำระล้างร่างกายทันทีหลังจากขึ้นจากน้ำ อาจทำให้ป่วยเป็นไข้เลือดออกหรือโรคผิวหนังผื่นคันได้ รวมทั้งเด็กๆ ยังลงเล่นในน้ำท่วม ส่วนผู้ใหญ่มักดื่มสุราเนื่องจากว่างงานและเครียด ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากการจมน้ำได้ ที่สำคัญบางพื้นที่ทิ้งขยะและถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในน้ำท่วม โดยจะพายเรือออกไปและขึ้นไปขับถ่ายบนต้นไม้ลงในน้ำท่วม ซึ่งเป็นการเพิ่มความสกปรกลงในน้ำ อาจทำให้เกิดการระบาดได้
“ขอให้ผู้ประสบภัยถ่ายอุจจาระใส่ในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้สนิท รวบรวมใส่ในถุงดำเพื่อรอการกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป นอกจากนี้ ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการที่ศูนย์พักพิงต่างๆ และกำชับให้ดูแลสุขาภิบาลน้ำ และขยะ เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู เนื่องจากมีผู้ประสบภัยอาศัยรวมกันจำนวนมาก” รองปลัด สธ.กล่าว
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พื้นที่ที่น่าห่วงและต้องเฝ้าระวังขณะนี้คือ รพ.พานทอง จ.ชลบุรี ซึ่งมีน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง โดยน้ำรอบโรงพยาบาลสูง 30 เซนติเมตร มีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ได้กั้นแนวกระสอบทรายรอบโรงพยาบาลสูง 80 เซนติเมตร และติดเครื่องสูบน้ำ 3 เครื่องสูบน้ำออกตลอดเวลา และให้บริการประชาชนตามปกติ มีผู้ป่วยนอนรักษา 30 ราย หากระดับน้ำสูงใกล้แนวกระสอบทราย จะย้ายผู้ป่วยไป รพ.ชลบุรี และวางแผนเปิดบริการนอกโรงพยาบาล ที่บริเวณแยกพนัสนิคม
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า สำหรับโรงพยาบาลที่ยังปิดให้บริการอยู่คือ รพ.ประจันตคาม จ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำท่วมลดลงขณะนี้เหลือประมาณ 20 เซนติเมตร ส่วน รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์และในพื้นที่น้ำท่วมอื่นๆ ยังเปิดบริการตามปกติ ส่วนบริการทางการแพทย์จากการประเมินการเข้าถึงอยู่ในเกณฑ์น่าพอใจ
ด้าน นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัด สธ.ในฐานะประธานวอร์รูมน้ำท่วม สธ.กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมผู้ประสบภัย พบว่าส่วนใหญ่ไม่นอนในมุ้ง และไม่ชำระล้างร่างกายทันทีหลังจากขึ้นจากน้ำ อาจทำให้ป่วยเป็นไข้เลือดออกหรือโรคผิวหนังผื่นคันได้ รวมทั้งเด็กๆ ยังลงเล่นในน้ำท่วม ส่วนผู้ใหญ่มักดื่มสุราเนื่องจากว่างงานและเครียด ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตจากการจมน้ำได้ ที่สำคัญบางพื้นที่ทิ้งขยะและถ่ายอุจจาระปัสสาวะลงในน้ำท่วม โดยจะพายเรือออกไปและขึ้นไปขับถ่ายบนต้นไม้ลงในน้ำท่วม ซึ่งเป็นการเพิ่มความสกปรกลงในน้ำ อาจทำให้เกิดการระบาดได้
“ขอให้ผู้ประสบภัยถ่ายอุจจาระใส่ในถุงพลาสติกและมัดปากถุงให้สนิท รวบรวมใส่ในถุงดำเพื่อรอการกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป นอกจากนี้ ได้ส่งหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ไปให้บริการที่ศูนย์พักพิงต่างๆ และกำชับให้ดูแลสุขาภิบาลน้ำ และขยะ เพื่อป้องกันโรคอุจจาระร่วง โรคฉี่หนู เนื่องจากมีผู้ประสบภัยอาศัยรวมกันจำนวนมาก” รองปลัด สธ.กล่าว