xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ห่วงปัญหาจมน้ำเพิ่มขึ้นย้ำทุกฝ่ายเตรียมรับมือพายุ “นารี” เน้นควรระวังโรคฉี่หนู

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ห่วงปัญหาจมน้ำท่วม เตือนผู้ประสบภัยระมัดระวัง ย้ำทุกฝ่ายเตรียมพร้อมรับมือพายุนารีจ่อถล่มอีกระลอก ยันไข้เลือดออกไม่น่ากังวล ที่ควรระวังคือโรคฉี่หนู
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า พื้นที่ที่ยังมีปัญหาน้ำท่วมมากในขณะนี้ คือ ปราจีนบุรี โดยเฉพาะที่ อำเภอเมือง อำเภอบ้านสร้าง อำเภอประจันตคาม ซึ่งที่อำเภอประจันตคาม มีโรงพยาบาลสนามเพื่อช่วยเหลือประชาชน อย่างไรก็ตาม สธ.จะเร่งฟื้นฟูโรงพยาบาลประจันตคาม ให้เปิดบริการประชาชนโดยเร็ว ได้มอบให้ฝ่ายวิศวกรรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินการช่วยเหลือ และได้สั่งการกำชับให้สถานบริการในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เตรียมความพร้อมรับมือพายุนารีจะมีผลกระทบประเทศไทยในระยะ 2-3 วันนี้

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า เรื่องที่เป็นห่วงในขณะนี้ก็คือปัญหาจมน้ำ ตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556 ถึงวันนี้ มีรายงานจมน้ำเสียชีวิต 55 ราย ที่เกิดทั้งในพื้นที่น้ำนิ่งขังและน้ำไหลเชี่ยว สาเหตุการเสียชีวิต เกิดจากการพลัดตกน้ำ
โดยพบในกลุ่มเด็กที่ชอบเล่นน้ำ โดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์กับอันตรายที่จะเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากอยู่บ้านตามลำพัง ต้องช่วยเหลือตนเอง ในกลุ่มวัยทำงาน คิดว่าตนเองว่ายน้ำเป็นและสู้กระแสน้ำได้ จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคในปี 2556 พบว่าเพศชายมีความเสี่ยงจมน้ำสูงกว่าเพศหญิง ถึงร้อยละ 66

“ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ที่น้ำท่วมขัง จะต้องระมัดระวังในการเดินทาง เนื่องจากสภาพน้ำที่แช่ขังจะเกิดตะไคร่น้ำเกาะที่ตามพื้นผิวต่างๆ ทำให้ลื่นง่าย ผู้ที่ต้องทำทางเดินเข้าบ้าน เช่น สะพานไม้ ขอให้ยกพื้นสูงพ้นน้ำท่วม เพื่อให้พื้นแห้ง ป้องกันปัญหาการลื่นล้มตกน้ำ หากเป็นไปได้ควรทำราวไม้เพื่อยึดเกาะขณะเดินเท้า นอกจากนี้ให้หลีกเลี่ยงการเดินทางผ่านบริเวณน้ำไหลหลาก แม้จะตื้นๆ น้ำเพียง 15 เซนติเมตร ก็สามารถทำให้เสียหลัก ล้มได้ หากจำเป็นต้องเดินผ่านน้ำไหล ให้ลองใช้ไม้จุ่มลองน้ำก่อน เพื่อวัดระดับความลึกทุกครั้ง” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.ประดิษฐ กล่าวด้วยว่า ที่สำคัญไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ขณะมีน้ำท่วมขังที่บ้านหรือในพื้นที่ เนื่องจากหากมึนเมาจะไม่สามารถประคองตัวได้ อาจจมน้ำเสียชีวิตได้ ทั้งนี้หากพบคนจมน้ำขอให้ตั้งสติ อย่าวู่วามลงไปช่วยทันที และในการช่วยคนจมน้ำ ควรหาอุปกรณ์ใกล้ตัว เช่น ไม้ เชือก เพื่อโยนหรือยื่นช่วยให้คนจมน้ำลอยตัวได้ หรือมีที่ยึดเกาะ แล้วลากเข้าฝั่ง หากช่วยด้วยตนเองไม่ได้ให้ตะโกนขอความช่วยเหลือ

นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่าจากการประเมินปัญหาสุขภาพผู้ประสบภัยน้ำท่วม พบว่าเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วๆ ไป อันดับ 1 คือโรคน้ำกัดเท้า ทุกพื้นที่ไม่พบปัญหาโรคระบาด สธ.จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตามหมู่บ้านต่างๆ ทุกวัน วันละกว่า 80 ทีม มีผู้ป่วยวันละประมาณ 4,000 ราย ยอดสะสมตั้งแต่วันที่ 17 กันยายน 2556-วันนี้ รวม 111,767 ราย ส่วนการดูแลด้านสุขภาพจิตประชาชน ได้กำหนดแผนให้ทุกพื้นที่ติดตามจนถึงหลังน้ำลด โดยตรวจประเมินสุขภาพจิตเป็นระยะๆ เพื่อป้องกันปัญหาการทำร้ายตัวเองจากความเครียด จนถึงวันนี้ได้ตรวจประเมินสุขภาพจิตในรายที่อยู่ข่ายเฝ้าระวังไปแล้ว 16,589 ราย พบมีความเครียด 1,304 ราย ในจำนวนนี้ติดตามดูแลใกล้ชิด 19 ราย

ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า คร.มีมาตรการในการเฝ้าระวัง และควบคุมโรคในภาวะน้ำท่วม 3 กรณี แบ่งเป็น 1.ช่วงน้ำท่วม จะมีปัญหาการจมน้ำ และไฟฟ้าช็อต 2.ช่วงน้ำท่วมขัง ต้องระวังเรื่องโรคฉี่หนู อุจจาระร่วง น้ำกัดเท้า ตาแดง ไข้หวัดใหญ่ และ 3.ช่วงน้ำลด ยังคงเป็นฉี่หนูที่ต้องระวัง และไข้เลือดออก ซึ่งภาวะปัจจุบันยังคงมีปัญหาน้ำท่วมอยู่ โรคที่ต้องเฝ้าระวังหลักๆ คือ โรคฉี่หนู และโรคไข้เลือดออก แต่ช่วงน้ำท่วม ปัญหาไข้เลือดออกกลับไม่สูงมากนัก เนื่องจากโดยปกติยุงลายซึ่งเป็นพาหะของโรคไข้เลือดออกจะวางไข่ในภาชนะเหนือน้ำ แต่เมื่อน้ำท่วมจะไม่สามารถวางไข่ได้ ที่ต้องระวังคือ โรคฉี่หนู เพราะหากมีการลุยน้ำ และไม่ทำความสะอาดภายหลังลุยน้ำ โอกาสติดเชื้อก็มีสูง สำหรับตัวเลขผู้ป่วยโรคฉี่หนูตั้งแต่มกราคมถึงวันที่ 20 กันยายน 2556 มีผู้ป่วย 1,928 ราย เสียชีวิต 15 ราย

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร.กล่าวว่า โรคไข้เลือดออก ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคไม่ใช่ปัญหาในช่วงน้ำท่วม เนื่องจากยุงลายไม่วางไข่ในน้ำ ทั้งน้ำท่วมขัง หรือน้ำเน่า แต่จะวางบนภาชนะที่มีน้ำขังเป็นหลัก จะเห็นว่าในช่วงน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 ปัญหาไข้เลือดออกลดลง อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกปี 2556 ข้อมูลจากรายงาน 506 ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แจ้งว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงวันที่ 8 ตุลาคม 2556 มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสมรวม 133,377 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 207.54 ต่อแสนประชากร จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจากปี 2555 ณ ช่วงเวลาเดียวกันร้อยละ 167.83 หรือประมาณ 2.7 เท่า ทั้งนี้ ส่วนที่หลายคนพบว่า มียุงชุมส่วนน้ำท่วมนั้น คาดว่าเป็นยุงรำคาญมากกว่า ซึ่งยุงรำคาญจะวางไข่ในน้ำ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำขัง โดยจะพบมากในพื้นที่ชุมชนแออัด โดยยุงรำคาญจะก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบ แต่โรคนี้ไม่ค่อยพบมาก และไม่ใช่ปัญหา เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ตั้งแต่เด็กอายุ 1-2 ขวบ ที่เป็นปัญหาจากยุงรำคาญคือ เมื่อถูกกัดจะเป็นตุ่ม คัน อักเสบ การป้องกันโรคจากยุง คือ ต้องทาโลชั่น หรือยากันยุง นอนกางมุ้ง เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น