โดย..ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
น้ำท่วมปีนี้ไม่หนักเท่าปี 54 แต่ก็มากพอที่จะทำให้พื้นที่ราบลุ่มภาคกลาง ภาคตะวันออก และแม้แต่พื้นที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนต้องจมอยู่ใต้น้ำ เรือกสวนไร่นาและบ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย การคมนาคมถูกตัดขาด ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตทั้งชีวิตที่ยังมีความเป็นปกติและชีวิตที่จำเป็นต้องได้รับการบริบาลอาการป่วยไข้
กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุดก็คือกลุ่มผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เพราะต้องรับยาหรือเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องแต่ไม่สามารถไปได้
ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะน้ำท่วม เพราะเมื่อไตเสื่อมจนไม่สามารถขับของเสียออกมาทางปัสสาวะได้ ของเสียก็จะคั่งค้างอยู่ในร่างกาย จึงต้องทำการรักษาด้วยการนำเอาของเสียออกจากเลือดเพื่อบรรเทาอาการและทำให้ผู้ป่วยมีชีวิต ที่ยืนยาวขึ้น วิธีที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุด คือการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมโดยนำเลือดออกจากร่างกายเข้าไปฟอกด้วยเครื่องไตเทียมที่ทำหน้าที่ในการกรองของเสียออกจากเลือด จากนั้นก็จะนำเลือดที่ผ่านการกรองแล้วกลับเข้าสู่ร่างกาย ข้อดีของวิธีการฟอกเลือดคือ ไม่ต้องทำเอง และไม่ต้องมีอุปกรณ์อะไรติดอยู่กับตัว เมื่อใดที่ถึงเวลาฟอกเลือด ก็เดินไปโรงพยาบาลหรือคลินิกไตเทียมให้แพทย์แทงเข็มคล้ายกับการบริจาคเลือด เสร็จแล้วก็นอนรอ 4-5 ชั่วโมงเป็นอันเสร็จพิธี แต่ข้อเสียก็คือสัปดาห์หนึ่งต้องฟอกเลือดประมาณ 2-3 ครั้ง ค่าใช้จ่ายครั้งละประมาณ 1,500-2,000 บาท ตกสัปดาห์ละ 4,500-6,000 บาท หรือเดือนละประมาณ 18,000-24,000 บาท ถ้าไม่มีสถานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงก็อาจถึงขั้นล้มละลายได้เลยทีเดียว
ยังโชคดีอยู่บ้างที่มีวิธีการกำจัดของเสียที่ใช้ต้นทุนถูกกว่าและสามารถทำได้ด้วยตนเอง นั่นก็คือ การล้างไตผ่านหน้าท้องหรือที่เรียกว่า CAPD (Continuous Ambulatory Peritoneal Dialyis) ซึ่งใช้เยื่อบุผนังช่องท้องทำหน้าที่เป็นตัวกรองของเสีย โดยการวางท่อถาวรให้ปลายด้านหนึ่งเข้าไปในช่องท้อง ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งอยู่นอกช่องท้อง มีวาล์วเปิดปิดสำหรับต่อกับถุงน้ำยาล้างไต เมื่อต้องการล้างไตก็นำถุงน้ำยามาต่อเข้ากับท่อที่ว่านี้แล้วก็ปล่อยน้ำยาไหลจนหมดถุงทิ้งไว้ 4-6 ชั่วโมง เยื่อบุผนังช่องท้องที่เป็นเยื่อบางๆที่ห่อหุ้มช่องท้องจะทำหน้าที่กรองของเสียและของเหลวออกจากเลือด ไปสู่น้ำยาล้างไต ครบเวลาก็ปล่อยน้ำยาผ่านท่อออกมาด้านนอกและเปลี่ยนน้ำยา ถุงใหม่ใส่เข้าไปในช่องท้อง
การล้างไตผ่านหน้าท้องแม้ว่าจะดูน่ากลัว เพราะต้องวางท่อติดกับช่องท้องเป็นการถาวร แต่ท่อ ที่ว่านี้เป็นเพียงท่ออ่อนขนาดเล็ก ไม่สร้างความเจ็บปวดแม้จะติดกับร่างกายผู้ป่วย ข้อดีก็มีอยู่มากเช่น สามารถทำได้เองหรือจะให้ลูกหลานทำให้ก็ได้ และเป็นการกำจัดของเสียอย่างต่อเนื่อง ไม่ต้องเสียเวลา เดินทางไปยังหน่วยล้างไต ไม่ต้องใช้เครื่องมือราคาแพง ไม่ต้องรอคิว ไม่ต้องจำกัดอาหาร และสามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
คุณหมอเสาวลักษณ์ ชาวโพนทอง อายุรแพทย์โรคไต โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา เล่าว่า ปี 54 สถานการณ์น้ำท่วมเข้าขั้นวิกฤต โรงพยาบาลต้องปิดให้บริการและทำการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออก หน่วย ไตเทียมที่สามารถฟอกเลือดล้างไตได้เหลืออยู่เพียงแห่งเดียวทั้งจังหวัด ทำให้ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะ สุดท้ายที่ต้องพึ่งพาการฟอกเลือดเป็นประจำต้องไปต่อคิวกันเป็นจำนวนมาก และต้องลดระยะเวลาการ ฟอกเลือดลงเพื่อให้สามารถให้บริการได้อย่างทั่วถึง แตกต่างจากผู้ป่วยไตวายที่ล้างไตผ่านหน้าท้องที่ สามารถล้างไตได้ด้วยตนเอง ทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงกว่ากลุ่มที่ต้องฟอกเลือด ซึ่งยืนยันได้จาก การตรวจร่างกายผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มหลังจากที่น้ำได้ลดลงแล้ว
ด้วยเล็งเห็นผลดีของการล้างไตผ่านหน้าท้อง ที่มีความเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้ร่วมมือกับสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย รณรงค์ให้ผู้ป่วย ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายใช้วิธีการล้างไตผ่านช่องท้องแทนการฟอกเลือดล้างไตมาตั้งแต่ปี 2551 ทำให้มีผู้ล้างไตผ่านช่องท้องเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 5 ในตอนเริ่มต้นเป็นร้อยละ 60 ของผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายทั้งหมดในปัจจุบัน ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้มากขึ้น และครอบครัวไม่ต้องล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล
ก่อนหน้านี้ครอบครัวใดมีผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ก็เหมือนจะป่วยกันไปทั้งบ้าน เพราะต้องช่วยกันหาเงินมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลในอัตราที่สูง แต่ด้วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่คนไทยทุกคนเป็นเจ้าของ ก็ช่วยทำให้ครอบครัวไทยไม่ต้องล้มละลายจากการเจ็บป่วยของตนเอง หรือคนในครอบครัว ทราบอย่างนี้แล้วก็ต้องช่วยกันอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพให้เป็นหลักยึด ด้านสุขภาพของคนไทยตลอดไป นะครับ