ชูนิยาย “สี่แผ่นดิน” ขุมทรัพย์อักษร “ม.ร.ว.คึกฤทธิ์” รำลึก 18 ปี วธ.จัดนิทรรศการผลงานท่านเรือนไทย ทายาทมอบหนังสืออนุสรณ์ “เมื่อโลกนี้ไม่มีคนชื่อคึกฤทธิ์” แก่สถาบันการศึกษาให้คนรุ่นใหม่เรียนรู้ท่าน
วันนี้ (9 ต.ค.) ที่บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซอยสวนพลู กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ร่วมกับ บ.บ้าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ จำกัด จัดพิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลแด่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ ในโอกาสเวียนบรรจบปีที่ 18 การจากไปของท่าน และเปิดงาน “18 ปีรำลึก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ลิขิตวรรณกรรมชูวัฒนธรรมไทย” ในแบบฉบับของการกินอยู่อย่างไทยจากอดีตสู่ปัจจุบัน โดยมี นายอดิศักดิ์ เบญจศิริวรรณ ผู้ช่วยรัฐมนตรีวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธีรำลึก
ม.ล.รองฤทธิ์ ปราโมช ทายาท ส่งมอบหนังสืออนุสรณ์ “เมื่อโลกนี้ไม่มีคนชื่อคึกฤทธิ์ เล่มที่ 3” แก่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา ให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้ถึงบุคคลสร้างคุณงามความดีแก่ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ ในงานมีการจัดแสดงสาธิตการปรุงอาหารตำรับต่างๆ จากการค้นคว้าผลงานวรรณกรรมเรื่อง “สี่แผ่นดิน” เสวนาเรื่องแม่พลอยกับสกุลบุนนาค โดย รศ.ดร.คุณหญิงวินิตา ดิถียนต์ ศิลปินแห่งชาติ เจ้าของนามปากกา แก้วเก้า ว.วินิจฉัยกุล เรื่องความรู้เกี่ยวกับงานด้านการแสดง “โขน” จากอดีตสู่ปัจจุบัน ผู้ก่อตั้งชุมนุมโขนธรรมศาสตร์ โดย ม.ล.วัลย์วิภา บุรุษรัตนพันธุ์ นักวิชาการไทยคดี ม.ธรรมศาสตร์ และนายยุทธนา มุกดาสนิท ผู้กำกับภาพยนตร์ ถ่ายทอดความประทับใจ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ เมื่อครั้งที่ท่านมีชีวิตอยู่ และระหว่างวันที่ 9-13 ต.ค.จัดนิทรรศการผลงานของท่าน บริเวณเรือนไทย ประชาชนเข้าชมได้ เวลา 10.00-16.30 น.
คุณหญิงวินิตา กล่าววรรณกรรมสี่แผ่นดินของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ว่า ตอนเด็กๆ เราแค่อ่านเอาเรื่องชีวิตของแม่พลอยเท่านั้น แต่พอโตมาอ่านอีกรู้สึกว่าเนื้อหามีอะไรมากขึ้น แต่มาตอนที่อายุมากขึ้นเราก็รู้สึกได้ว่าสี่แผ่นดินเป็นขุมทรัพย์ ขุดไปเท่าไรก็เจอของมีค่าอยู่ในตัวอักษร แม้แต่เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยท่านเขียนพูดไว้แค่คำสองคำ สามารถนำมาขยายเขียนบทความได้อีกมาก อย่างเช่น แม่พลอยเป็นญาติของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ทำให้รู้ว่าแม่พลอยไม่ใช่แค่ตัวละครลอยๆ และสี่แผ่นดินเป็นการสะท้อนเหตุการณ์เบื้องหลังทางประวัติศาสตร์ตั้งแต่ปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 8 และสะท้อนถึงความรุ่งโรจน์โดยมีศูนย์กลางคือสถาบันพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 6 เหตุการณ์สำคัญหลายอย่าง เช่น ค่านิยมของตะวันตกที่เข้ามาในการศึกษาของคนไทย การเปลี่ยนแปลงการปกครองกบฏบวรเดช กระทั่งการเสด็จนิวัตพระนครรัชกาลที่ 8 และปลีกย่อยที่ในพงศาวดารอ่านไม่ได้ให้รายละเอียดได้มากกว่าในหนังสือสี่แผ่นดิน
คุณหญิงวินิตา กล่าวว่า เชื่อว่าคนที่อ่านสี่แผ่นดินเหมือนกับว่าอยู่ในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ส่วนนั้นด้วย ได้ตามแม่พลอยไปทุกก้าว โศกเศร้า ดีใจ หัวเราะ ร้องไห้ ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับตัวละคร ซึ่งคุณสมบัติเหล่านี้หาได้ยากมากในบรรดานักเขียนของไทย และหนังสือเล่มนี้ได้รับความนิยมจากผู้อ่านอย่างมาก เป็นหนังสือที่อ่านได้ไม่ตกยุค ไม่ล้าสมัย แฝงปรัชญา วัฒนธรรม อักษรศาสตร์ ท่านให้ไว้ในหนังสือเล่มนี้ และสี่แผ่นดินได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ที่ชาวต่างชาติสนใจอ่านงานวรรณกรรมชิ้นนี้ของท่าน