xs
xsm
sm
md
lg

สธ.มอบถุงยังชีพแก่พื้นที่น้ำท่วม แนะ 5 วิธีจัดการสุขาภิบาลป้องกันโรคระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.มอบชุดยังชีพและชุดนายสะอาดให้สระแก้ว สั่งทุกพื้นที่จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ด้านกรมอนามัยแนะ 5 วิธีจัดสุขาภิบาล จุดอพยพช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วม
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (7 ต.ค.) นายสรวงศ์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.ตาพระยา และ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว โดยมอบยาสามัญประจำบ้าน เครื่องอุปโภคบริโภค และชุดนายสะอาดเพื่อใช้ป้องกันโรค แห่งละ 400 ชุด ว่า สธ.ได้ให้ทุกอำเภอจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ออกดูแลประชาชนและเยี่ยมบ้านผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยโรงพยาบาลเสี่ยงน้ำท่วมมี 1 แห่ง คือโรงพยาบาลอรัญประเทศ ระดับน้ำรอบๆ โรงพยาบาลสูงประมาณ 50 เซนติเมตร แต่มีการได้วางระบบป้องกันไว้เต็มที่ ทั้งกั้นกระสอบทราย ติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ 6 เครื่อง และจัดรถยกสูงจากหน่วยทหารประจำโรงพยาบาล เพื่อรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน โดยเพิ่มจุดบริการตรวจรักษาพยาบาลประชาชนในเวลากลางวัน ที่หน้าโรงพยาบาล 1 จุด คือที่ลานสยามมินทร์ เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนไม่ต้องเดินลุยน้ำไปโรงพยาบาล มีผู้รับบริการประมาณ 100 คน หากสถานการณ์รุนแรงและไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ ได้วางแผนย้ายผู้ป่วยซึ่งขณะนี้ 100 กว่าคน มีผู้ป่วยหนักประมาณ 10 ราย ไปที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว และโรงพยาบาลวัฒนานคร ซึ่งถนนใช้การได้ จึงขอให้ประชาชนไม่ต้องวิตกกังวล

นายสรวงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้กำลังจัดเตรียม “ชุดนายสะอาด” กว่าหมื่นชุด ซึ่งประกอบด้วยเอกสารแนะนำการดูแลสุขภาพตนเองช่วงน้ำท่วม สบู่ และเจลล้างมือ สารส้มและคลอรีนน้ำ (หยดทิพย์) ช่วยทำให้น้ำสะอาดสามารถนำมาดื่ม ปรุงอาหาร และชำระล้างได้ วิธีการใช้คือ กวนสารส้มทิ้งไว้ 1-2 นาที ตั้งทิ้งไว้จนตกตะกอน แยกน้ำที่ใสออกมาเติมคลอรีนน้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค ใช้ 1 หยดต่อน้ำ 1 ลิตร ทิ้งไว้ 30 นาที จึงสามารถนำน้ำมาใช้ได้ แต่การนำน้ำมาบริโภคต้องต้มน้ำให้เดือดก่อนเพื่อความปลอดภัย ถุงจัดหนัก ถุงจัดเต็ม เป็นถุงสีส้มที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ ไว้เก็บรวมรวมสิ่งปฏิกูลโดยใช้ถุงจัดหนักสำหรับขับถ่าย ส่วนถุงดำใช้เก็บรวบรวมขยะมูลฝอย ห้ามทิ้งขยะลงแม่น้ำเด็ดขาด เพราะจะทำให้น้ำที่ท่วมอยู่สกปรก เน่าเหม็น และเป็นแหล่งแพร่กระจายของเชื้อโรค ควรแยกถุงขยะออกเป็น 2 ถุง คือ ขยะเน่าเสียและขยะแห้งปิด หรือมัดปากถุงให้เรียบร้อย

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า พื้นที่ที่มีน้ำท่วมสูง จำเป็นต้องจัดพื้นที่หรือจุดอพยพ จึงควรมีการจัดการสุขาภิบาลที่ดีเพื่อป้องกันโรคระบาด ดังนี้ 1.ที่นอนหรือที่พัก ควรมีลักษณะพื้นเรียบ การระบายอากาศที่ดี มีแสงสว่างเพียงพอและกางมุ้งเพื่อป้องกันยุง กำจัดมดและแมลงโดยการโรยปูนขาวรอบๆ บริเวณเต็นท์ 2.การทิ้งขยะ ต้องมีการรวบรวมขยะมูลฝอยใส่ในถุงดำและมัดปากถุงให้แน่น 3.สถานที่ปรุงอาหาร หรือครัวควรระบายอากาศได้ดี อุปกรณ์ที่ใช้วางวัสดุอาหาร ภาชนะในการเตรียมและปรุงอาหารจากจุดบริการ ต้องมีความสูงไม่น้อยกว่า 60 ซม.และควรแยกห่างจากที่นอนหรือที่พัก ควรมีโต๊ะหรือชั้นสำหรับเตรียมปรุงอาหารวางไว้กับพื้น อาหารต้องมีฝาปิดให้มิดชิด นอกจากนี้ หากเป็นน้ำถัง หรือน้ำบรรจุขวดที่ได้รับบริจาค ให้ดูสัญลักษณ์ที่ได้มีการรับรองจาก อย.4.สถานที่รับประทานอาหาร ควรอยู่ใกล้กับที่ปรุงอาหาร เพื่อความสะดวก สะอาดถูกสุขลักษณะ ที่สำคัญอาหารกล่องที่บริจาคควรต้องระบุควรบริโภคเวลาที่กำหนด 5.ห้องส้วม ห้องอาบน้ำ และห้องซักล้าง ควรอยู่ใกล้จุดจ่ายน้ำ สำหรับห้องส้วมต้องมีผนังกั้นมิดชิด สามารถทำเป็นที่อาบน้ำแบบรวม แต่ควรแยกชาย-หญิง ต้องมีส้วมสำหรับขับถ่ายและมีระบบเก็บกักอุจจาระ ห้ามทิ้งลงสู่แหล่งน้ำ เพื่อเป็นการป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นได้ อาทิ โรคท้องร่วง โรคอาหารเป็นพิษ


กำลังโหลดความคิดเห็น