xs
xsm
sm
md
lg

เตือนญาติห้ามโรคจิตกินเหล้า เสี่ยงอาการกำเริบ หวั่นเกิดเหตุฆ่าควักเครื่องในอีก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.ส่งทีมสุขภาพจิตเยียวยาญาติเหยื่อถูกโรคจิตเมาฆ่าควักอวัยวะภายใน ยันโรคจิตรักษาได้ แต่ต้องกินยาต่อเนื่อง ห้ามขาดยา ห้ามดื่มเหล้าและเสพยาเสพติด เหตุจะกระตุ้นให้อาการกำเริบ แนะสังเกตอาการนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ ก้าวร้าว หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ให้รีบพาไปพบแพทย์
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีผู้ป่วยทางจิต เมาสุรา และฆ่าควักอวัยวะภายในเพื่อนที่ดื่มด้วยกัน ที่ตำบลหนองเต่า อ.ประทาย จ.นครราชสีมา ว่า สธ.ได้ส่งทีมวิกฤตสุขภาพจิต จากโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ ซึ่งประกอบด้วยจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และพยาบาลจิตเวชร่วมลงพื้นที่ที่เกิดเหตุ ร่วมเยียวยาครอบครัวของผู้เสียชีวิต และประชาชนในชุมชน เป็นการด่วน เนื่องจากเป็นคดีสะเทือนขวัญ เพื่อคลายความกังวล ลดความหวาดกลัวของประชาชน โดยจะให้การดูแลร่วมกับทีมสุขภาพจิตของอำเภอประทาย

พญ.พรรณพิมล กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องที่สังคมจะต้องช่วยกันดูแลผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งโรคจิตที่พบมากที่สุดขณะนี้คือโรคจิตเภท สาเหตุการเกิดโรคมีหลายปัจจัย ทั้งจากกรรมพันธุ์ จากสิ่งกระตุ้น โรคทางสมอง หรือการใช้สารเสพติด แต่ทุกโรครักษาได้เช่นเดียวกับโรคเรื้อรังอื่นๆ เมื่ออาการดีขึ้นแล้วผู้ป่วยจะต้องกินยา หรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อควบคุมอาการไม่ให้กำเริบ และผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนได้ เรื่องที่ต้องระวังคือปัญหาการขาดยาหรือการลดยาของผู้ป่วย และการใช้สารเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เป็นสิ่งต้องห้าม เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการกำเริบรุนแรง ฤทธิ์แอลกอฮอล์ และยาเสพติดจะไปกระตุ้นสมอง ทำให้ควบคุมอาการไม่ได้ จะเกิดอาการประสาทหลอน หลงผิด หูแว่ว ดังนั้นญาติจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด โดยสัญญาณเตือนของอาการกำเริบจากการขาดยาคือ ผู้ป่วยจะนอนไม่หลับ หงุดหงิด มีความคิดแปลกๆ พฤติกรรมก้าวร้าว วิตกกังวล หวาดกลัว ฉุนเฉียวง่าย ขอให้รีบพาไปพบแพทย์หรือโทร.ปรึกษาที่สายด่วน 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง

ด้าน นพ.จุมภฏ พรมสีดา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นกำลังรอการประสานกับทางตำรวจเพื่อนำผู้ก่อเหตุมาตรวจสภาพจิตเพื่อประเมินอาการเจ็บป่วยทางจิตและวางแผนการรักษาต่อไป จากปัญหาที่เกิดขึ้นทางโรงพยาบาลจะทบทวนและพัฒนาแผนการดูแลผู้ป่วยโรคจิตเวช รวมทั้งโรคจิตเวชที่เกิดจากการดื่มสุรา ร่วมกับโรงพยาบาลที่เป็นเครือข่าย และครอบครัว เพื่อให้ผู้ป่วยจิตเวชทุกรายได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่อง เหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป


กำลังโหลดความคิดเห็น