สาธารณสุข แนะประชาชนอย่าใจร้อนตามอากาศ แนะให้ใช้หลักการคลายเครียด 2 วิธี คือการลดเครียดด้วยวิธีง่ายๆ เช่นการออกกำลังกาย ทำงานอดิเรก และการป้องกันการเกิดความเครียดใหม่ เช่น คุยระบายทุกข์กับเพื่อน เน้นย้ำให้ประชาชนช่วยกันดูแลผู้ป่วยจิตเวช อย่าให้ขาดยา และห้ามดื่มเหล้า เนื่องจากฤทธิ์แอลกอฮอล์จะต้านฤทธิ์ยาควบคุมอาการ ทำให้ผู้ป่วยอาการกำเริบได้
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น นอกจากอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ โดยเฉพาะโรคที่พบได้บ่อยในฤดูร้อน เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคอาหารเป็นพิษ บิด อหิวาตกโรค ไทฟอยด์ได้แล้ว อาจทำให้เกิดความเครียด ทั้งในคนปกติและผู้ป่วยโรคจิตเวชได้ โดยอากาศร้อนจะเป็นตัวกระตุ้นหรือเพิ่มความเครียดมากกว่าเดิม จากข้อมูลผลสำรวจสถานการณ์แนวโน้มความเครียดของคนไทย โดยกรมสุขภาพจิต จำนวน 12 ครั้ง ตั้งแต่ พ.ศ.2552-2555 ดำเนินการใน 16 จังหวัดและกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่าพื้นที่คนไทยเครียดสูงสุดกระจายไปตามภาคต่างๆ โดย 7 ใน 12 ครั้งของการสำรวจ พบว่า กทม.เป็นพื้นที่พบผู้ที่มีความเครียดสูงมากที่สุด และอีก 5 ครั้งเป็นอันดับรอง
สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด มี 5 สาเหตุ ได้แก่ ปัญหาการเงิน ปัญหาการงาน ปัญหาความไม่สงบของบ้านเมือง ปัญหาครอบครัว และปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยปัญหาด้านการเงินพบมากเป็นอันดับ 1 เกือบทุกครั้งของการสำรวจ ถ้าประชาชนรายใดมีความเครียดในเรื่องการเงิน การทำงาน ครอบครัว เมื่อมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศร้อนอาจเพิ่มความเครียด จนอาจเกิดกระทบกระทั่ง ทะเลาะเบาะแว้ง และเกิดความรุนแรงขึ้นได้ในที่สุด เนื่องจากระดับความเครียดที่รุนแรง จะทำให้ควบคุมอารมณ์ได้ไม่ดี พฤติกรรมที่แสดงออกมา เป็นได้ทั้งการใช้วาจารุนแรง หรือการทำร้ายร่างกาย
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวว่า ในกลุ่มของประชาชนทั่วไป มีคำแนะนำสำหรับผู้ที่มีความเครียดทางจิตใจในช่วงอากาศร้อน สามารถสังเกตได้จากอาการปรากฏทางกาย เช่น ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ และอาการทางจิตใจ เช่น ว้าวุ่น ไม่มีสมาธิ หากมีอาการที่กล่าวมาแสดงว่ามีความเครียด ขอแนะนำวิธีการจัดการความเครียด 2 วิธี คือ 1.การลดความเครียดด้วยวิธีง่ายๆ เช่น ออกกำลังกาย ทำสมาธิ โยคะ ทำงานอดิเรกที่ชอบ หรือถนัด หรือปลูกต้นไม้ และ 2.การป้องกันความเครียดใหม่ๆ อย่าใจร้อนตามอากาศ ควรหาเพื่อนคุยเพื่อระบายความเครียด หรือออกกำลังกาย ก็จะช่วยผ่อนคลายหายเครียดลงไปได้
ด้านนายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในกลุ่มของผู้ป่วยจิตเวช วิธีการป้องกันความเครียดในช่วงสภาพอากาศร้อน คนในครอบครัวช่วยกันดูแลสอดส่องดูแล อย่าให้ขาดยา หาวิธีคลายร้อน เช่น หากิจกรรมให้ผู้ป่วยจิตเวชทำร่วมกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยจิตเวชรู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว สร้างความเพลิดเพลิน และรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า ประการสำคัญการเฝ้าระวังผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีความเครียด ไม่ให้พึ่งวิธีการแก้ปัญหาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด เนื่องจากสุรามีฤทธิ์โดยตรงกับสมอง และมีผลต้านฤทธิ์กับยาที่แพทย์รักษาเพื่อควบคุมอาการ ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการกำเริบได้ โดยประชาชนสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่หน่วยบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง