xs
xsm
sm
md
lg

สธ.แนะดูแลสุขภาพตั้งแต่หนุ่มสาวตามหลัก 3 อ.ส่งผลดีในวัยเกษียณ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เผยคนแก่มักป่วยโรควิตกกังวล เครียด และโรคจิต แนะดูแลสุขภาพร่างกายตั้งแต่หนุ่มสาวตามหลัก 3 อ.ช่วยให้ช่วงวัยเกษียณอายุราชการมีคุณภาพและมีความสุข
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ช่วงวัยเกษียณอายุราชการเป็นช่วงของการเปลี่ยนจากวัยทำงานเป็นวัยผู้สูงอายุ อาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งด้านร่างกาย สามารถเจ็บป่วยได้ง่ายและรุนแรง เนื่องจากร่างกายมีการเสื่อมสภาพลง หากขาดการดูแลก็จะทำให้สุขภาพร่างกายเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ด้านจิตใจ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันต่อกิจวัตรประจำวัน เพราะต้องละทิ้งบทบาททางสังคม หมดภาระหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ สูญเสียอำนาจ เกียรติยศ และเสี่ยงต่อการสูญเสียบุคคลใกล้ชิด รวมถึงสัมพันธภาพในครอบครัวปัจจุบันลดลง เนื่องจากลูกหลานจะมีครอบครัวเป็นของตนเอง ด้านสังคมคือการเข้าสังคมจะลดน้อยลง และด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากมีรายได้ลดลง หากภาระค่าใช้จ่ายยังมีอยู่มากอาจทำให้รายรับไม่พอกับรายจ่าย หากไม่มีเตรียมพร้อมรับมืออาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้า เหงา และเครียดได้

นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า จากรายงานปัญหาสุขภาพจิตของผู้สูงอายุใน ปี 2547-2551 พบว่า ปัญหาสุขภาพจิตที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ โรควิตกกังวลและความเครียด คิดเป็นร้อยละ 26.42 โรคจิต เช่น โรคจิตเภท คิดเป็นร้อยละ 25.73 โรคที่มีสาเหตุจากทางสมองและทางกาย เช่น โรคสมองเสื่อม คิดเป็นร้อยละ 18.47 โรคทางอารมณ์ เช่น โรคซึมเศร้า คิดเป็นร้อยละ 18.24 และโรคที่มีสาเหตุจากสารเสพติด เช่น จากสุรา คิดเป็นร้อยละ 3.45

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผู้เกษียณจึงควรเตรียมความพร้อมตนเองทั้งทางด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจ ซึ่งต้องคำนึงถึงตั้งแต่วัยหนุ่มสาวและวัยทอง เพราะเมื่อถึงวัยเกษียณอายุแล้วสุขภาพจะได้ไม่ทรุดโทรมเร็วกว่าที่ควรจะเป็น ช่วยลดการเจ็บป่วยจากโรคเรื้อรังต่างๆ ที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการปฏิบัติตามหลัก 3 อ.ได้แก่ 1.อาหาร รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และหลากหลาย หลีกเลี่ยงอาหาร หวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ สำหรับท่านที่อยู่ในช่วงอายุ 45-59 ปี ควรเพิ่มการรับประทานอาหารที่มีแคลเซียม ไฟโตเอสโตรเจน และควรลดอาหารประเภท แป้ง น้ำตาล ชา กาแฟ งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และบุหรี่ 2.ออกกำลังกาย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เมื่อเข้าสู่วัยเกษียณไม่ควรออกกำลังกายที่ใช้แรงกระแทก เพราะจะทำให้เข่ารับน้ำหนักมากขึ้น และเสื่อมก่อนวัยอันควร และ 3.อารมณ์ ให้มองโลกในแง่ดี ยอมรับความเป็นจริง มีชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และสภาพแวดล้อม อาจใช้หลักธรรมะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ สร้างสัมพันธภาพที่ดีให้กับบุคคลในครอบครัว

"ทั้งนี้ การเตรียมสะสมเงินสำรองไว้ใช้จ่ายหลังเกษียณอายุและประมาณการรายรับ-รายจ่ายในแต่ละเดือนจะช่วยลดปัญหาและภาวะเครียดจากค่าใช้จ่ายที่ไม่พอใช้ได้ รวมทั้งการเตรียมความพร้อมของที่อยู่อาศัย จัดบ้าน และสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเพื่อลดอุบัติเหตุและอันตรายต่างๆ เช่น ใช้วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ มีราวจับ ใช้โถส้วมแบบนั่งราบ จัดบ้านให้โล่งและอากาศถ่ายเทได้สะดวก สำหรับลูกหลานและญาติควรให้ความสำคัญกับผู้เกษียณอายุ เพราะถือเป็นผู้สูงอายุประจำบ้าน ควรหาเวลาเพื่อพบปะหรือโทรศัพท์ถามทุกข์สุขก็จะช่วยให้ผู้เกษียณไม่เหงาและเกิดภาวะซึมเศร้า” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น