xs
xsm
sm
md
lg

คาด 2 เดือนรู้ผล “ใบกระท่อม” หลุดบัญชียาเสพติดหรือไม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“หมอประดิษฐ” คาดอีก 2 เดือนรู้ผล “ใบกระท่อม” หลุดบัญชียาเสพติดหรือไม่ สั่งหาข้อมูลด่วน รอบด้านทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้สังคมเข้าใจตรงกันว่าเป็นสารเสพติด หรือสารควบคุม ด้าน อย.ระบุเรื่องจะถึงมือก็ต่อเมื่อเห็นควรว่าต้องถอนและมีการแก้ประกาศ
ใบกระท่อม
นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงยุติธรรมมีมติให้ถอดพืชใบกระท่อมออกจากบัญชีสารเสพติด ว่า ในส่วนของ สธ.คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ จะมีหน้าที่พิจารณาตามกฎหมายว่าจะปลดกระท่อมออกจากสารเสพติดหรือไม่ คาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการพิจารณา 2 เดือน โดยยึดหลักการแปลผลว่ากระท่อมเป็นสารเสพติดหรือไม่ สามารถไปทำยารักษาได้หรือไม่ มีประโยชน์และผลกระทบอย่างไร สามารถทดแทนการใช้ยาเสพติดที่มีอันตรายกว่าอย่างยาบ้าได้หรือไม่ หรือจะสามารถช่วยปัญหาผู้ต้องโทษจากกรณียาบ้าลงได้หรือไม่ ทั้งนี้ ได้สั่งการให้หาข้อมูลทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพิจารณาแล้วว่า กระท่อมถูกจัดเป็นยาเสพติด หรือสารควบคุม พร้อมทั้งเหตุผลในการจัดความสำคัญดังกล่าวเพื่อนำมาพิจารณาประกอบกันด้วย

“ช่วงนี้จะเป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการศึกษาข้อมูลใบกระท่อม เพื่อศึกษาในหลักการดังกล่าว เพื่อให้เกิดความชัดเจน และให้สังคมเข้าใจตรงกัน เพราะขณะนี้บางส่วนยังมองว่า กระท่อมเป็นยาเสพติดร้ายแรง บางส่วนมองว่าสามารถนำมาใช้รักษาผู้ติดยาเสพติด จึงต้องทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่าการใช้จะเป็นลักษณะใด แต่ สธ.จะเน้นพิจารณาในเชิงวิชาการให้มากที่สุด” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังมาไม่ถึง อย.อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ รมว.สาธารณสุข ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานต่างๆ ใน สธ.ไปศึกษาข้อมูลทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง หากเห็นว่าควรที่จะถอนกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด และจำเป็นต้องมีการแก้กฎหมายหรือออกประกาศจึงจะส่งเรื่องมาให้ อย.เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ ที่มีปลัด สธ.เป็นประธาน

“ที่ผ่านมาเคยมีข้อเสนอให้ถอนกระท่อมออกจากบัญชีมาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อปี 2547 เป็นการศึกษาของวุฒิสภา แต่คณะกรรมการยาเสพติดฯมีมติยังคงยืนให้กระท่อมเป็นยาเสพติดต่อไป เช่นเดียวกับครั้งที่ 2 ปี 2552 ที่เป็นข้อเสนอของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ท่านหนึ่ง เมื่อมีการเสนออีกครั้งในปี 2556 ถือเป็นเรื่องดีที่จะต้องมีการทบทวน เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาเรื่องราวหรือข้อมูลต่างๆ อาจเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม การพิจารณาครั้งนี้ต้องดูเหตุผลของกระทรวงยุติธรรม (ยธ.) และข้อมูลระดับสากลว่าเป็นอย่างไร การที่กระทรวงยุติธรรมออกมาเสนอเช่นนี้ไม่ได้เป็นการกดดัน อย.” เลขาธิการ อย.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น