xs
xsm
sm
md
lg

“หย่า” อย่างไรไม่ให้ลูกเจ็บช้ำ / ดร.แพง ชินพงศ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การหย่าร้างของพ่อแม่มีผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจของลูก เพราะพวกเขาต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการที่อาจต้องย้ายออกจากบ้านเดิมที่เคยอยู่ การเปลี่ยนแปลงจากการที่มีคุณพ่อและคุณแม่อยู่พร้อมหน้ากันกลับกลายเป็นต้องอยู่กับคุณพ่อหรือคุณแม่เพียงคนเดียว พ่อแม่ที่หย่าร้างตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ พวกเด็กๆ มักจะเผชิญกับความเหงาและความเศร้าอยู่ลึกๆ และความรู้สึกนี้จะส่งผลต่อไปจนพวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเป็นปมปัญหาให้กับการใช้ชีวิตของพวกเขาได้ ดังนั้น หากว่าพ่อแม่กำลังเกิดความรู้สึกว่าการใช้ชีวิตคู่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป รู้สึกว่าอยู่ด้วยกันไม่ได้ ไร้ความสุข จนถึงขั้นที่ควรจะต้องแยกทางจากกันไป ก็ควรหาวิธีที่จะจบกันโดยให้ส่งผลกระทบต่อลูกน้อยที่สุด ดังนี้
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
1.อย่าให้ลูกเป็นที่ปรึกษาและอย่าด่าว่าอีกฝ่ายให้ลูกฟัง อย่าลืมว่าปัญหาการหย่าร้างของพ่อแม่เป็นเรื่องที่ทำให้ลูกเจ็บปวด ดังนั้น ถ้าให้ดีก็ควรหลีกเลี่ยงที่จะเล่าถึงปัญหา หลักเลี่ยงการแสดงความไม่พอใจ ความรู้สึกโกรธแค้นที่มีต่ออีกฝ่ายหรือหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงสิ่งที่ไม่ดีของอีกฝ่ายให้ลูกฟัง เพราะจะทำให้ลูกเครียด สับสนและมีความทุกข์ ดังนั้นถึงพ่อแม่จะมีปัญหาอะไรกันก็ตาม พ่อแม่ก็ยังคงต้องทำตัวเป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกเสมอ อย่าว่ากล่าวอีกฝ่ายหนึ่งให้ลูกฟัง เพราะไม่ว่าอย่างไรทั้งสองฝ่ายก็มีฐานะเป็นพ่อเป็นแม่ที่รักของลูก ครึ่งหนึ่งของลูกคือเลือดเนื้อของอีกฝ่าย ถึงแม้พ่อแม่จะหย่าร้างกันไปและลูกอยู่ในการเลี้ยงดูของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม แต่ลูกคนนั้นก็ยังเป็นลูกของพ่อแม่ตลอดไปนั่นเอง ดังนั้นต้องให้เกียรติซึ่งกันและกันแม้ว่าจะไม่รักกันอีกแล้วก็ตาม เพราะนั่นคือการทนุถนอมน้ำใจลูกที่ดีที่สุด

2.อย่าใช้ให้ลูกเป็นผู้สื่อสารแทนตนเอง เมื่อถึงเวลาที่คิดจะแยกทางจากกัน ส่วนใหญ่ก็มักไม่ค่อยอยากจะพูดคุยกันเหมือนเดิม บางครั้งคุณพ่อคุณแม่หลายคู่จึงใช้ลูกเป็นเครื่องมือสื่อสารระหว่างกัน ทั้งการให้ลูกนำข้อความที่เคยพูดคุยปกติไปบอกอีกฝ่าย หรือการให้ลูกพูดเจรจาต่อรองในสิ่งที่คุณพ่อหรือคุณแม่ต้องการ เช่น การที่แม่ใช้ให้ลูกไปขอเงินค่าเลี้ยงดูจากพ่อ การที่พ่อใช้ให้ลูกไปทวงของบางอย่างคืนจากแม่ การทำเช่นนี้ส่งผลกระทบทางอารมณ์และจิตใจแก่ลูกเป็นอย่างมาก พ่อแม่จึงควรสื่อสารพูดคุยธุระกันด้วยตนเอง ถ้าไม่อยากจะเผชิญหน้าก็สามารถสื่อสารกันผ่านเครื่องมือสื่อสารต่างๆแทนได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรืออีเมล ซึ่งก็เป็นวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว ลดความขัดแย้งและลดการกระทบกระทั่งที่อาจเกิดขึ้นจากการเผชิญหน้ากันได้ นอกจากนี้ การสื่อสารกันผ่านข้อความที่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ทำให้มีหลักฐานแน่ชัดถึงสิ่งที่คุยกัน หากมีปัญหาเกิดขึ้นภายหลังหรือมีสิ่งใดที่คลาดเคลื่อนไปจากที่เคยสื่อสารกันก็จะได้นำข้อความเหล่านั้นมายืนยันกันได้อีกด้วย

3.อย่ากีดกันลูกจากพ่อและแม่ของเขา คู่บางคู่อาจแยกกันอยู่ก่อนหย่าขาดจากกัน และลูกอาจต้องอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหลัก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าลูกไม่มีสิทธิ์ที่จะใช้เวลาหรือไปพบเจอพ่อหรือแม่ของเขา อย่าแสดงความไม่พอใจที่ลูกได้ใช้เวลากับอีกฝ่ายอย่างมีความสุข เช่น ไม่ยอมพูดกับลูกเมื่อลูกกลับมาจากการไปเยี่ยมหรือไปเที่ยวกับอีกฝ่าย หรือพูดจากระทบกระเทียบว่าลูกไม่รักตนเองแต่รักอีกฝ่ายมากกว่า การทำเช่นนี้จะทำให้ลูกเครียด อึดอัดและเหมือนว่าตนเองทำความผิดร้ายแรงต่อพ่อหรือแม่ อย่าให้ลูกต้องมีความรู้สึกเหมือนว่าไม่รู้จะวางตัวเองไว้ตรงไหน หรือต้องเลือกฝักเลือกฝ่าย เพราะอย่างไรก็ตามสำหรับลูกแล้วพ่อแม่ก็ยังคงเป็นพ่อแม่ ไม่ใช่ใครที่เขาจะตัดออกไปจากชีวิตได้ ดังนั้น เพื่อไม่ให้ลูกลำบากใจและเมื่อคิดถึงความรู้สึกของลูกแล้ว ก็อย่ากีดกันลูกจากอีกฝ่าย และหากเขาได้ไปทำกิจกรรมอะไรร่วมกันมาก็ควรไถ่ถามถึงบ้าง เช่น ถามลูกว่าไปเที่ยวกับคุณพ่อสนุกไหม ไปทำอะไรกันบ้าง การถามเช่นนี้จะทำให้ลูกสบายใจและรู้สึกว่าไม่ได้โดนตำหนิหรือไม่ได้โดนจับผิดหรือถูกกีดกัน

4.เปิดใจรับฟังลูกบ้าง เมื่อเกิดการหย่าร้างกันก็จะทำให้ลูกมีความรู้สึกย่ำแย่ หดหู่ใจ เราจึงต้องหมั่นพูดคุยกับลูกเพื่อรับรู้ความรู้สึกของเขา เช่น เมื่อเรามีคนรักใหม่และอยากจะแต่งงานใหม่อีกครั้ง ก็ควรให้ลูกได้ทำความรู้จักกับว่าที่พ่อใหม่หรือว่าที่แม่ใหม่ของเขาก่อนล่วงหน้านานๆ เพื่อดูว่าลูกจะยอมรับได้หรือไม่ หรือพูดคุยกับลูกเพื่อให้รู้ถึงความคิดและความรู้สึกของลูกว่าเป็นอย่างไร โดยเราต้องไม่ใส่ความคิดให้ลูกหรือบังคับให้ลูกคิดเหมือนเรา หรือเข้าข้างเรา แต่เราจำเป็นต้องฟังลูก เป็นที่ระบายให้กับลูก พยายามใช้เวลากับลูกให้มากเพื่อให้ลูกสบายใจ อบอุ่นใจและพร้อมจะเปิดใจของเขา แล้วเมื่อนั้นเราจะสามารถพูดคุยกันเพื่อให้เกิดความเข้าใจกันได้ง่ายขึ้น อย่าลืมว่าต้องให้ใจเรากว้างกับลูกและให้ความรักที่มีต่อลูกเป็นคำตอบสำหรับทุกสิ่งเสมอ

5.พยายามแก้ไขเรื่องที่ทำผิดพลาด คุณพ่อคุณแม่ที่หย่าร้างควรทำสิ่งต่างๆเหล่านี้

- ขอโทษลูกที่พ่อแม่จำเป็นต้องแยกจากกัน

- ย้ำลูกอยู่เสมอและบ่อยๆ ว่าพ่อแม่รักลูกเหมือนเดิม แม้ว่าพ่อแม่จะไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้วก็ตาม

- ตอบคำถามของลูกเสมอถ้าลูกมีข้อสงสัยและถามเกี่ยวกับการหย่าร้างของพ่อแม่ ให้ตอบลูกทกครั้ง แต่พยายามตอบสั้นๆ แต่ให้ได้ใจความสำคัญ อย่าแสดงอารมณ์และความรู้สึกออกไปจนทำให้ลูกเกิดความเครียด

แน่นอนว่าการหย่าร้างของพ่อแม่ ทำให้เกิดบาดแผลขึ้นในใจของลูก ถึงขนาดที่มีลูกบางคนคิดด้วยซ้ำไปว่าเป็นความผิดของเขาที่ทำให้พ่อแม่ต้องหย่าร้างกัน การที่เราไม่สามารถอยู่ร่วมเป็นคู่ครองกันได้อีกต่อไปและต้องหย่าร้างกันเป็นสิทธิที่เราพึงจะทำได้ แต่อย่าลืมว่ามีสิ่งหนึ่งที่เราจะไม่มีสิทธิที่จะทำได้เลยก็คือการหนีจากความรับผิดชอบในตัวลูกซึ่งเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของเราเอง แม้ว่าเราจะไม่ได้มีฐานะเป็นสามีภริยากันแล้วก็ตาม แต่ฐานะความเป็นพ่อและแม่ของลูกจะคงอยู่ตลอดไป ลูกเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับพ่อแม่และพ่อแม่ก็เป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดสำหรับลูก

ดังนั้น พ่อแม่จึงต้องทำหน้าที่ที่มีต่อลูกให้ดีที่สุดเพราะความรักของพ่อแม่จะเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตใจแข็งแรงและมั่นคง


กำลังโหลดความคิดเห็น