การให้บริการทันตกรรมในประเทศไทยเริ่มตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐานบันทึกที่แน่ชัด แต่จากการสืบค้นจาก http://dentpmk.pmk.ac.th/history.htm พบว่า ปี 2431 รัชกาลที่ 5 ทรงตั้งโรงพยาบาลศิริราช โดยมี นพ.ยอร์ช บี แมคฟารแลน ชาวอเมริกัน เข้ามาทำงาน พอปี 2483 นายวาด แย้มประยูร นักเรียนทุนเล่าเรียนหลวงที่ไปศึกษาต่อวิชาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยสิราคิวส์ (Syracuse university) นิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อจบวิชาแพทย์ได้ศึกษาวิชาทันตแพทย์เพิ่มเติมและกลับรับราชการเป็นแพทย์จนเจริญก้าวหน้าได้รับพระราชทานยศและนามเป็น ศ.พันเอกหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ได้เสนอตั้งโรงเรียนทันตแพทย์สำหรับราชการทหารไปยัง จอมพล ป.พิบูลสงคราม แต่ จอมพล ป.ได้เปลี่ยนนโยบายมาจัดตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมีนิสิตทันตแพทย์รุ่นแรก 8 คน
73 ปีของการศึกษาด้านทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทย ได้ผลิตทันตแพทย์รวมกว่าหมื่นคน ทำหน้าที่ให้ในการดูแลสุขภาพปากและฟันของคนไทยทั่วประเทศ แล้วมีพ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรม เมื่อปี 2537 โดยมีเหตุผลในการประกาศใช้ดังนี้
“การประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบันสาขาทันตกรรมอยู่ในความควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ ซึ่งมีคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะทำหน้าที่ควบคุมการประกอบโรคศิลปะสาขาต่างๆ ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ ในปัจจุบันวิชาการและเทคโนโลยี
ทางด้านทันตแพทยศาสตร์ในประเทศไทยได้เจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นอันมาก ประกอบกับจำนวนผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาทันตกรรมมีจำนวนมากขึ้น สมควรแยกการควบคุมการประกอบวิชาชีพทันตกรรมออกจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะโดยจัดตั้ง “ทันตแพทยสภา” ขึ้นทำหน้าที่ควบคุมการประกอบวิชาชีพทันตกรรมแทนคณะกรรมการควบคุมการประกอบโรคศิลปะ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
เมื่อ พ.ร.บ.มีผลบังคับใช้แล้ว เป็นผลให้มี “ทันตแพทยสภา” ซึ่งเป็นสภาวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองโดยเฉพาะ มีการกำหนดขอบเขตการประกอบวิชาชีพทันตกรรม สอดคล้องกับความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีทางด้านทันตแพทยศาสตร์ของประเทศไทยในปัจจุบัน มีการส่งเสริมและควบคุมการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการในสาขาต่างๆ ทางทันตกรรมและที่สำคัญก็คือ มีการควบคุมมิให้ผู้ใดที่ไม่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาทันตแพทยศาสตร์ใช้คำหรือข้อความว่า ทันตแพทย์
ทันตแพทย์หญิง แพทย์ฟันหรือใช้อักษรย่อของคำดังกล่าว ซึ่งอาจนำไปใช้หลอกลวงหรือทำให้เชื่อได้ว่ามีความรู้ความสามารถในการให้การรักษาทางทันตกรรมแก่ประชาชน
เมื่อมีทันตแพทยสภาแล้ว ประชาชนจะได้อะไร
วัตถุประสงค์ของการมีทันตแพทยสภาตามที่ระบุไว้ในมาตรา 8 ของ พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรมมีด้วยกัน 7 ข้อ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการศึกษา การวิจัยและการประกอบวิชาชีพในทางการทันตแพทย์ 2.ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก 3.ผดุงไว้ซึ่งสิทธิ ความเป็นธรรมและส่งเสริมสวัสดิการให้แก่สมาชิก 4.ควบคุมความประพฤติของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพทันตกรรม 5.ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนและองค์กรอื่นในเรื่อง
ที่เกี่ยวกับการทันตแพทย์และการทันตสาธารณสุข 6.ให้คำปรึกษาหรือข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับการทันตแพทย์และการทันตสาธารณสุข 7.เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรมในประเทศไทย
จะเห็นได้ว่าวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่มุ่งเน้นการพัฒนาให้วิชาชีพทันตกรรมมีคุณภาพและกำกับให้มีมาตรฐาน การมีมาตรฐานที่ดีก็เท่ากับเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับบริการที่ดี การให้การช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องที่เกี่ยวกับการทันตแพทย์ก็เพื่อให้ประชาชนได้รู้และเข้าใจ สามารถดูแลสุขภาพช่องปากและฟันได้อย่างถูกต้องและเข้ารับบริการทันตกรรมได้ด้วยความมั่นใจ
การทันตแพทย์ไทยในปัจจุบันเจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาอารยประเทศ ส่วนหนึ่งมาจาก
ความเข้มแข็งทางวิชาการของสถาบันการศึกษาและส่วนหนึ่งมาจากการทำหน้าที่ตามวัตถุประสงค์
ของ พ.ร.บ.วิชาชีพทันตกรรมของทันตแพทยสภา โดยมุ่งหวังให้การประกอบวิชาชีพทันตกรรม
ในประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานและเป็นที่พึ่งทางด้านทันตสาธารณสุขของประชาชนไทย ตลอดไป