xs
xsm
sm
md
lg

สธ.รณรงค์เข้มไข้เลือดออก หวั่นระบาดหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.นำทีมรณรงค์เอาชนะไข้เลือดออกชุมชนบางบัว ชุมชนพหลโยธิน 46 กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย

วันนี้ (15 กันยายน 2556) นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบดีกรมอนามัย อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม.กทม. ลงพื้นที่รณรงค์รวมพลังเอาชนะไข้เลือดออก ณชุมชนบางบัว และชุมชน พหลโยธิน 46 แขวงจตุจักร กรุงเทพมหานคร

นพ.ประดิษฐกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเน้นการทำงานเชิงรุกให้ความรู้ประชาชนในการดูแลสุขภาพลดอัตราป่วยและเสียชีวิตจากโรคติดต่อ และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง สอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้คนไทยทุกวัยมีสุขภาพดี แต่เนื่องจากปัญหาไข้เลือดออกยังคงระบาดอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 4,564 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 120,404 ราย กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องเร่งช่วยกันกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อไม่ให้ไข่ยุงมีโอกาสโตเป็นตัวยุงตามแหล่งชุมชนที่มีน้ำขังไม่มีการจัดการขยะที่ดี เหล่านี้จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง โดยเฉพาะสัปดาห์ที่มีฝนตก ควรกำจัดขยะและภาชนะเหลือใช้ที่จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่สำคัญการนอนกลางวันของเด็ก ควรให้นอนในมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด

สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มอบถุงของขวัญเอาชนะไข้เลือดออกที่บรรจุทรายทีมีฟอส ยาทากันยุง หนังสือ นวัตกรรม และไฟฉาย นอกจากนี้ยังมอบมุ้ง เจลล้างมือ และเอกสารความรู้เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยุง ซึ่งชุมชนบางบัวมีประชาชนอาศัยอยู่ 113 หลังคาเรือน มีประชากร 640 คน อสม.4 คน ชุมชนพหลโยธิน 46 มี 112หลังคาเรือน ประชากร 445 คน อสม. 11 คนโดยข้อมูลล่าสุดพบมีผู้ป่วยไข้เลือดออกในเขตจตุจักร 347 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 214.98 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยใน 4 สัปดาห์สุดท้าย 43 ราย คิดเป็นอัตราป่วย26.64 ต่อประชากรแสนคน


ทางด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ประชาชนในแหล่งชุมชนและพื้นที่เสี่ยงควรยึดปฏิบัติการป้องกันโรคไข้เลือดออกโดยจัดการสิ่งแวดล้อมด้วยวิธี 5 ป. 1 ข. ได้แก่ 1) ปิด คือ ปิดภาชนะน้ำกินน้ำใช้ให้มิดชิดหลังการตักใช้น้ำทุกครั้งเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ 2) เปลี่ยน คือ เปลี่ยนน้ำในแจกัน ถังเก็บน้ำทุก 7 วัน เพื่อตัดวงจรลูกน้ำที่จะกลายเป็นยุง 3) ปล่อย คือปล่อยปลาหางนกยูงกินลูกน้ำในภาชนะใส่น้ำถาวร เช่น อ่างบัว 4) ปรับปรุง คือปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ปลอดโปร่ง โล่ง สะอาดลมพัดผ่านไม่เป็นที่เกาะพักของยุงลาย และ 5) ปฏิบัติเป็นประจำ คือ ขอให้เจ้าของบ้านลงมือปฏิบัติเองจนเป็นนิสัย ไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่และอสม. ส่วน 1 ข. คือ ขัดไข่ยุงลายโดยขัดล้างภาชนะใส่น้ำก่อนเปลี่ยนน้ำใหม่ทุกสัปดาห์เพื่อกำจัดไข่ยุงลาย

ทางด้าน ดร.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การกำจัดขยะมูลฝอยและเศษอาหารให้ถูกวิธี โดยเก็บใส่ถุงดำผูกปากถุงให้มิดชิดทำความสะอาดบ้าน และครัวไม่ให้มีเศษหรือกลิ่นอาหารเหลืออยู่ทำความสะอาดส้วมให้ถูกสุขลักษณะลดแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงหนู ให้น้อยลง และให้ทำลายไข่แมลงสาบเมื่อพบเห็นโดยการนำไปเผาทิ้ง จะช่วยลดจำนวนแมลงสาบลงได้ 14-30 ตัว

“ทั้งนี้ เมื่อมีการตรวจพบลูกน้ำ หรือตัวโม่งยุงลาย ถือเป็นเหตุรำคาญ ซึ่งราชการส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น และเจ้าพนักงานสาธารณสุข สามารถดำเนินการควบคุมได้ทันที ตั้งแต่ 1) ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในท้องถิ่นทราบถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก ลักษณะอาการ การควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมทั้งผลทางกฎหมายที่กำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ 2) ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นเจ้าพนักงานสาธารณสุขเฝ้าระวังโรคและควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ 3) หากพบว่าอาคารหรือสถานที่ของเอกชนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ให้แจ้งหรือแนะนำให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือสถานที่นั้นปรับปรุงแก้ไข และ 4) หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารไม่ให้ความร่วมมือ หรือไม่ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งตามมาตรา 28 ให้ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษโดยปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับได้ตามมาตรา 74” อธิบดีกรมอนามัยกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น