xs
xsm
sm
md
lg

เอาจริง! สธ.ลั่นบ้านอาคารใดไม่ร่วมมือกำจัดแหล่งเพาะยุงลาย เจอปรับ 2 พัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สธ.เร่งคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ลั่นหากตรวจพบถือเป็นเหตุรำคาญ ปชช.และเจ้าของอาคารที่มีแหล่งเพาะพันธุ์ต้องเร่งกำจัด ชี้ไม่ให้ความร่วมมือเจอปรับแน่ 2,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 เดือน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงแนวทางการควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ว่า เมื่อมีการตรวจพบลูกน้ำหรือตัวโม่งยุงลาย ถือเป็นเหตุรำคาญ ซึ่ง ราชการส่วนท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่น และเจ้าพนักงานสาธารณสุขสามารถดำเนินการควบคุมได้ทันที ตั้งแต่ 1.ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงอันตรายของโรคไข้เลือดออก ลักษณะอาการ การควบคุมและป้องกันแหล่งเพาะพันธุ์ รวมทั้งผลทางกฎหมายที่กำหนดให้แหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายเป็นเหตุรำคาญ 2.ให้เจ้าพนักงานฯ เฝ้าระวังโรคและควบคุมแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในเขตท้องที่ที่รับผิดชอบ 3.หากพบว่าอาคารหรือสถานที่ของเอกชนมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้แจ้งหรือแนะนำเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือสถานที่นั้นปรับปรุงแก้ไข และ 4.หากเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารไม่ให้ความร่วมมือหรือไม่ปรับปรุงแก้ไขตามคำแนะนำ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นออกคำสั่งตามมาตรา 28 ให้ปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนด หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษโดยปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับได้ตามมาตรา 74

นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า กรณีที่ตรวจพบแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในที่หรือทางสาธารณะ เจ้าพนักงานฯ สามารถดำเนินการได้ทันที หากทราบว่าแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้น เกิดจากการกระทำของบุคคลใดให้ออกคำสั่งตามมาตรา 27 ให้บุคคลนั้นปรับปรุงแก้ไขตามระยะเวลาที่กำหนด ถ้าไม่ปฏิบัติตามให้ท้องถิ่นสั่งการให้ดำเนินการลงโทษตามบทบัญญัติมาตรา 74 ได้เช่นกัน แต่หากไม่ปรากฏว่าเกิดจากบุคคลใดให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นสั่งการให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของท้องถิ่นดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์นั้นได้โดยการถมระบายน้ำ ทิ้ง คว่ำ หรือใส่สารเคมีกำจัดลูกน้ำ แล้วแต่กรณีที่เหมาะสม ส่วนกรณีที่เป็นอาคารรกร้างว่างเปล่าหรือก่อสร้างไม่เสร็จ โดยไม่ปรากฏเจ้าของชัดเจน และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายให้ราชการส่วนท้องถิ่นดำเนินการทำลายแหล่งพันธุ์ยุงลายนั้นได้ เพราะหากมีการเฝ้าระวังที่ดีจะป้องกันไข้เลือดออกไม่ให้แพร่ระบาดได้ โดยอาจไม่ต้องใช้มาตรการกฎหมาย

วิธีการตรวจและเฝ้าระวังแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายนั้น สามารถดำเนินการได้โดยประชาชนอาจให้ความร่วมมือในการตรวจดูภาชนะ หรือเศษวัสดุที่มีน้ำขังทั้งในหรือนอกอาคารว่ามีลูกน้ำหรือตัวโม่งยุงลายหรือไม่ ซึ่งจากสถิติทั่วไปพบว่า ลูกน้ำในภาชนะหรือเศษวัสดุที่มีน้ำขังจะเป็นลูกน้ำยุงลายร้อยละ 95 ขึ้นไป หากพบว่ามีลูกน้ำหรือตัวโม่งให้ประชาชนเทน้ำทิ้ง และเปลี่ยนน้ำในภาชนะทุกๆ 7 วัน ก็จะเป็นการป้องกันมิให้เกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในครัวเรือนและชุมชนได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว

นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า เมื่อเปิดภาคเรียนควรมีการคัดกรองหรือวัดไข้เด็ก หากพบว่าเด็กนักเรียนมีไข้ร่วมกับไอหรือเจ็บคอให้สวมหน้ากากอนามัย แต่หากมีเพียงอาการไข้อย่างเดียว ให้สงสัยอาจเป็นไข้เลือดออก ควรแนะนำให้ทายากันยุงเพื่อลดการแพร่เชื้อจากผู้ป่วยไปสู่ยุงและยุงกัดเด็กคนอื่น และให้นักเรียนแกนนำสุขภาพแจ้งการป่วยของเพื่อนนักเรียน ควรปลูกตะไคร้หอม เพื่อใช้สำหรับกันยุงในห้องเรียน และขอความร่วมมือให้นักเรียนแกนนำสุขภาพรณรงค์ควบคุมลูกน้ำยุงลายเป็นประจำสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะสัปดาห์ที่มีฝนตก ควรกำจัดขยะ และภาชนะเหลือใช้ที่จะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายภายใน 7 วัน ที่สำคัญการนอนกลางวันของเด็กในศูนย์เด็กเล็ก ควรตรวจดูมุ้งลวดของอาคารศูนย์เด็กเล็กไม่ให้ชำรุด หากไม่ได้อยู่ในห้องที่มีมุ้งลวด ควรให้เด็กนอนในมุ้ง และแนะนำผู้ปกครองให้ดูแลเด็กที่นอนกลางวันในบ้าน โดยให้นอนกางมุ้งเพื่อป้องกันยุงกัด


กำลังโหลดความคิดเห็น