xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าถ่านหิน มรดกความกลัวข้ามรุ่น : “ญี่ปุ่น” กำจัดมลพิษโรงไฟฟ้าระดับ “เวิลด์คลาส” กฟผ.ฟุ้งมาตรฐานเท่าเทียม (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

ข้อแม้ของคนในชุมชนที่มีต่อการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน นอกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องให้ข้อมูล ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ประเด็นสำคัญคือจะต้องแสดงความจริงใจ ไม่โกหกหลอกลวงข้อมูลต่างๆ เพื่อรั้นที่จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขึ้น โดยเฉพาะเรื่องมลพิษ ดังนั้น สิ่งที่ กฟผ.ต้องตอบและแสดงความจริงใจต่อคนในชุมชนก็คือ โรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีระบบการป้องกันและกำจัดมลพิษที่ดีและได้มาตรฐาน

จากการศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าถ่านหินเฮกินัน ประเทศญี่ปุ่น ทำไมคนในชุมชนญี่ปุ่นถึงยอมให้สร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยที่ไม่มีการต่อต้าน และที่นี่มีวิธีกำจัดมลพิษอย่างไร

ลองมาฟัง นายชูนิชิโร อิเดะ ผู้จัดการทั่วไปโรงไฟฟ้าถ่านหินเฮกินัน เล่าว่า ก่อนสร้างเรามีการให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับคนในชุมชนหลายครั้ง ว่า การสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้มีประโยชน์ต่อสาธารณชน และมีมาตรการในการกำจัดมลพิษที่ดี ซึ่งคนในชุมชนก็เข้าใจและไม่มีการต่อต้านใดๆ โดยปี 1991-1993 สร้างเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง แต่ละเครื่องมีกำลัง 700 เมกะวัตต์ ใช้งบประมาณ 5,400 ล้านล้านเยน ต่อมาปี 2001-2002 สร้างเครื่องที่ 4 และ 5 มีกำลังผลิตเครื่องละ 1,000 เมกะวัตต์ ใช้งบประมาณ 4,200 ล้านล้านเยน ซึ่งการก่อสร้างเพิ่มเติมนั้นเกิดจากชุมชนร้องขอเอง เพื่อให้กำลังผลิตเพียงพอกับการบริโภคไฟฟ้า ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแห่งนี้ผลิตไฟฟ้ารวม 4,100 เมกะวัตต์

สำหรับมาตรการป้องกัน นายชูนิชิโร เล่าว่า บริเวณที่วางถ่านหิน ซึ่งสามารถบรรจุถ่านหินนำเข้าจากต่างประเทศได้ถึง 8.8 แสนตัน ได้มีการใช้น้ำทะเลในการฉีดอัดถ่านหินไม่ให้ถูกลมพัดปลิวง่ายๆ ประกอบกับบริเวณโดยรอบทั้ง 4 ด้านก็มีการสร้างเครื่องกั้นสูง 18-20 เมตร ระยะทางยาวกว่า 600 เมตร เพื่อป้องกันถ่านหินฟุ้งกระจายไปในเขตชุมชนและในทะเล

ส่วนการกำจัดมลพิษนั้น นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์การ กฟผ. อธิบายให้ฟังภายหลังศึกษาดูงานว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังความร้อนถ่านหิน ขั้นตอนจะเริ่มจากการลำเลียงถ่านหินด้วยสายพานเพื่อนำไปบดให้ละเอียดก่อนใช้ลมส่งเข้าไปยังหม้อไอน้ำ เมื่อถ่านหินเกิดการเผาไหม้ก็จะคายพลังงานความร้อนและถ่ายเทให้กับน้ำที่อยู่รอบๆ เมื่อน้ำเดือดและระเหยเป็นไอน้ำ ก็จะถูกนำไปใช้ในการขับเคลื่อนเพื่อหมุนกังหันไอน้ำที่ต่อไปยังเครื่องกำเนิดไฟฟ้าต่อไป

โดยมลพิษเกิดขึ้นในขั้นตอนการเผาไหม้ของถ่านหิน ได้แก่ 1.ขี้เถ้า หากเป็นขี้เถ้าหนักจะตกลงสู่ก้นเตา ซึ่งนำไปถมที่ได้ ส่วนขี้เถ้าเบาจะลอยขึ้นไปสู่อากาศก็จะใช้ระบบไฟฟ้าสถิตในการดักจับ ซึ่งนำไปผสมปูนหรือหล่อปะการังเทียมได้ 2.ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดต้องนำด่างมาแก้ คือน้ำทะเล ส่วนที่แม่เมาะจะใช้หินปูนมาบดสเปรย์เข้าไปในห้องกำจัด ซึ่งเมื่อไปจับกับซัลเฟอร์ไดออกไซด์แล้วจะได้ยิปซัมเป็นผลผลิต สามารถนำไปทำฝ้าเพดานต่อได้ 3.ไนโตรเจนออกไซด์ ใช้แก๊สแอมโมเนียทำปฏิกิริยาให้กลายเป็นน้ำธรรมดา และ 4.น้ำเสียที่เกิดขึ้นก็เข้าสู่กระบวนการบำบัดน้ำเสียตามมาตรฐาน

นายธาตรี บอกอีกว่า จากเทคโนโลยีดังกล่าว เมื่อทำการวัดมลพิษที่ปากปล่องควันโรงไฟฟ้าถ่านหินเฮกินันพบว่า สารแต่ละตัวมีค่าไม่เกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดไว้ สิ่งสำคัญยังไม่เคยพบผู้ป่วยจากโรงไฟฟ้ามาก่อน ส่วนไทยเองก็ใช้เทคโนโลยีระดับเวิลด์คลาสดังกล่าวของญี่ปุ่นเช่นกัน และมีค่ามลพิษน้อยกว่ามาตรฐานคือ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์น้อยกว่า 180 ppm ไนโตรเจนออกไซด์น้อยกว่า 200 ppm และขี้เถ้าน้อยกว่า 80 มิลลิกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม อีกเหตุผลที่เชื่อได้ว่าทำให้คนในชุมชนยอมรับการก่อสร้างคือ มีโอกาสกำหนดค่ามาตรฐานมลพิษด้วยตัวเอง ซึ่งสูงกว่ากฎหมายกำหนด หากโรงไฟฟ้าสามารถทำได้ตามที่ชุมชนกำหนดก็เป็นหลักประกันอย่างหนึ่งที่ทำให้คนในชุมชนวางใจมากขึ้น ซึ่งไทยเองที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ วิธีนี้คงเป็นอีกหนึ่งมาตรการที่คนในชุมชนน่าจะเลือกมาต่อรองกับ กฟผ.เพื่อสร้างความมั่นใจและหลักประกันในสุขภาพและสวัสดิภาพของตนได้ในระดับหนึ่ง!


กำลังโหลดความคิดเห็น