xs
xsm
sm
md
lg

สกลนคร และลพบุรี คว้าแชมป์ส้วมต้นแบบลดโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สสจ.สกลนคร และลพบุรี คว้ารางวัลสุดยอดผู้พัฒนาส้วมสาธารณะ หลังเดินหน้าตามโครงการสถานบริการสาธารณสุขต้นแบบลดโลกร้อน เน้นหลัก Green&Clean
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (5 ก.ย.) ที่ฮอลล์ 9 ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังเป็นประธานมอบโล่ประกาศเกียรติคุณผู้มีบทบาทดีเด่นด้านการพัฒนาส้วมสาธารณะ สุดยอดส้วมแห่งปี 2555 และสถานบริการสาธารณสุขต้นแบบลดโลกร้อน ในงานประชุมวิชาการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 6 “อำเภอสุขภาพดี นวัตกรรมดี 878 อำเภอ One District One Best Practice” ว่า หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบแผนแม่บทพัฒนาส้วมสาธารณะไทยระยะที่ 3 (พ.ศ. 2556-2559) เมื่อวันที่ 19 ก.พ.ที่ผ่านมา จึงได้มีการพัฒนาส้วมสาธารณะมาโดยตลอด เพื่อให้ประชาชนได้ใช้บริการส้วมสาธารณะที่สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย ซึ่งได้พัฒนาและปรับปรุงจนได้มาตรฐาน HAS ของกรมอนามัยเพิ่มขึ้น

นายปลอดประสพกล่าวอีกว่า ในส่วนของสถานบริการสาธารณสุขต้นแบบลดโลกร้อนนั้น นับเป็นโครงการที่ดีและเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม เนื่องจากสถานบริการสาธารณสุขเป็นจุดศูนย์กลางของชุมชน การพัฒนาเป็นต้นแบบลดโลกร้อน ย่อมสามารถขยายแนวคิดนำไปสู่การปฏิบัติที่เข้มแข็งร่วมกับภาคีเครือข่ายและประชาชน ซึ่งการมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ผู้มีบทบาทดีเด่นด้านการพัฒนาส้วมสาธารณะ จำนวน 2 คน จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสกลนคร และลพบุรี รางวัลสุดยอดส้วมแห่งปี 2555 จำนวน 23 แห่ง เช่น โรงเรียนวัดโคกหม้อ จังหวัดลพบุรี, โรงพยาบาลวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร, ตลาดกลางบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี และสถานบริการสาธารณสุขต้นแบบลดโลกร้อน จำนวน 82 แห่ง เช่น โรงพยาบาลปทุมธานี, โรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา, โรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ, โรงพยาบาลพระพุทธบาท ในครั้งนี้จึงถือเป็นการยกย่องและประกาศเกียรติคุณ อีกทั้งยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่เจ้าของส้วมสาธารณะ และสถานบริการสาธารณสุขในการดำเนินงานเพื่อให้ประชาชนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน

ด้าน นพ.ณัฐพร วงษ์ศุทธิภากร รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ผลจากการที่กรมอนามัยได้สำรวจส้วมสาธารณะทั่วประเทศเมื่อปี 2547 พบว่า ส้วมสาธารณะมีปัญหาเกี่ยวกับความสกปรก กลิ่นเหม็น การทำความสะอาดที่ไม่ดีพอ และการชำรุดของถังเก็บกักสิ่งปฏิกูล ทำให้เป็นแหล่งก่อให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการและชุมชนบริเวณใกล้เคียง ดังนั้น ในปี 2548 กรมอนามัยจึงได้จัดทำแผนพัฒนาส้วมสาธารณะไทย และกำหนดเกณฑ์มาตรฐานส้วมสาธารณะ (HAS) โดยเน้น 3 ประเด็นสำคัญ คือ สะอาด (Health) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) มีการขับเคลื่อนโครงการร่วมกับภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาและปรับปรุงส้วมสาธารณะในสถานที่สาธารณะสำคัญ 12 ประเภทที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้มากที่สุด ซึ่งการดำเนินงานประสบผลสำเร็จเป็นลำดับมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีส้วมสาธารณะที่ได้มาตรฐานครอบคลุมร้อยละ 62.45

สำหรับโครงการสาธารณสุขรวมใจรณรงค์ลดโลกร้อน ด้วยการสุขาภิบาลอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กรมอนามัยได้เริ่มดำเนินการขึ้นในปี 2553 มีเป้าหมายให้สถานบริการสาธารณสุขในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นแบบอย่างในการดำเนินงานเพื่อลดภาวะโลกร้อนในสถานบริการฯ โดยใช้หลักการ GREEN & CLEAN ประกอบด้วย กิจกรรม GREEN G : Garbage คือการจัดการมูลฝอยและการใช้ประโยชน์จากสิ่งปฏิกูล R : Rest room คือ การพัฒนาส้วมในสถานบริการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานส้วมสาธารณะไทย (HAS) E : Energy คือ การลดการใช้พลังงาน หรือใช้พลังงานทดแทนจากชีวภาพและชีวมวล E : Environment คือ การจัดการสิ่งแวดล้อมที่ช่วยลดโลกร้อนและเอื้อต่อสุขภาพ และ N : Nutrition รณรงค์อาหารปลอดสารพิษ การปลูกผักเพื่อบริโภคในครัวเรือน ลดการใช้สารเคมี รวมทั้งพัฒนาโปรแกรมคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์ เพื่อให้สถานบริการสาธารณสุขใช้คำนวณปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของหน่วยงาน และนำมาวางแผนปรับปรุงการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งประเมินผลความสำเร็จของการดำเนินโครงการ ส่งผลให้ปัจจุบันมีสถานบริการสาธารณสุขสมัครเข้าร่วมโครงการ จำนวน 3,878 แห่ง และดำเนินกิจกรรมลดโลกร้อนจนประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการลดโลกร้อนให้แก่หน่วยงานอื่นและประชาชนอีกด้วย” รองอธิบดีกรมอนามัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น