xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการห่วงประกันสังคมล้ม หลังเปิดเออีซี หากไม่วางระบบรองรับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“เฉลิม” แนะ สปส.พัฒนาหน่วยงานเสมอ รองรับการเปิดเออีซี ด้านนักวิชาการ แนะวางระบบที่ครอบคลุม ป้องกันกองทุนล้มในอนาคต
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (26 ส.ค.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเป็นประธานเปิดเสวนาวิชาการประกันสังคม “จัดกระบวนทัพ รับมือประชาคมอาเซียน” ที่โรงแรมรามาการ์เดนส์ กรุงเทพฯ ว่า ตนมั่นใจว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี พ.ศ.2558 ไม่น้อยไปกว่าประเทศอื่นๆ ซึ่งการเปิดเวทีเสวนารับฟังความเห็นข้อผู้เชี่ยวชาญ เป็นส่วนหนึ่งในการรับเออีซี นอกจากนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะต้องเตรียมความพร้อมและพัฒนาอยู่เสมอ เพื่อเตรียมรับสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นเมื่อเปิดเออีซี และได้ให้ สปส.รับข้อเสนอในงานครั้งนี้ไปศึกษาและวางรูปแบบมานำเสนอตน

นายวรโชค ไชยวงศ์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมของไทยมีแรงงานต่างด้าวอยู่ประมาณ 2 ล้านคน และหลังเปิดเออีซีจะเข้ามาเพิ่มอีก ยังไม่มีการวางระบบรองรับ หากไม่มีระบบการจัดการที่ดีจะส่งผลกระทบต่อกองทุนในอนาคต อาจจะถึงขั้นล้มได้ เพราะเงินกองทุนจะไหลออกมากกว่าไหลเข้า ทั้งเงินชราภาพ และการดูแลแรงงานต่างชาติ

นายวรโชค กล่าวอีกว่า สปส.จึงต้องวางระบบบริหารจัดการให้ดีและปรับปรุงระบบไอที รวมทั้งจะต้องมีพิสูจน์ตัวตนแรงงานต่างชาติและบริษัทที่ทำงานว่ามีการจ้างงาน การทำงานและประกอบธุรกิจจริง และก่อนแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทยจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพอย่างละเอียดและครบวงจรตั้งแต่ด่านตรวจคนเข้าเมือง และก่อนรับเข้าทำงาน เพื่อป้องกันโรคระบาดและต้องใช้งบกองทุนประกันสังคมจำนวนมากดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว รวมทั้งต้องมีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวและระบบติดตามที่ชัดเจนเเละต่อเนื่อง ปรับปรุงข้อมูลผู้ประกันตน ซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าว มีการเฝ้าระวังพฤติกรรมและสรุปยอดการยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ แต่การสรุปควรให้เร็วกว่า 1 เดือน เพื่อป้องกันปัญหาบริษัทต่างชาติและต่างด้าวแฝงตัวเป็นแรงงานเข้ามาทำงานในไทยแอบเข้ามาใช้สมัครเป็นผู้ประกันตนเพื่อเบิกเงินกองทุนออกไป

ผมคิดว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ทันสมัย และไม่ได้แยกประกันสังคมแรงงานต่างด้าวไว้โดยเฉพาะ จึงไม่สามารถรองรับแรงงานต่างด้าวที่จะเข้ามาทำงานในไทยหลังเปิดเออีซี และผมคิดว่า สปส.ก็คงไม่คิดแยก จึงควรปรับปรุงสิทธิประโยชน์และการจ่ายเงินสมทบให้เหมาะสมกับการทำงานของแรงงานต่างด้าวโดย สปส.ต้องหารือกับกรมการจัดหางาน (กกจ.) ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมว่าระยะเวลาที่เหมาะสมซึ่งควรให้แรงงานต่างด้าวทำงานอยู่ในไทยนั้นควรเป็นเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามการจะแก้ไขกฎหมายประกันสังคมใช้เวลานาน และกฎหมายประกันสังคมเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลแรงงานต่างด้าวเท่านั้น เพราะยังมีหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกระทรวงแรงงานจะต้องมาหารือกันเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการวางระบบใหญ่ของประเทศเพื่อดูแลแรงงานต่างชาติ หลังจากนั้นก็ออกเป็นประกาศหรือกฎกระทรวงรองรับไปก่อนและค่อยๆ แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป” นายวรโชค กล่าว

ด้าน นายอารักษ์ พรหมณี รองเลขาธิการ สปส.กล่าวว่า ขณะนี้ สปส.ได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาสิทธิประโยชน์ประกันสังคมโดยจะปรับปรุงเรื่องการส่งเงินสมทบและเงื่อนไขการเกิดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมกับระยะเวลาทำงานในไทยของแรงงานต่างด้าว แต่คาดว่าจะคงให้ได้รับสิทธิประโยชน์ไว้ทั้ง 7 กรณี และไม่ได้แยกเป็นประกันสังคมของแรงงานต่างชาติโดยเฉพาะ อาจจะปรับปรุง เช่น เงินชราภาพจากเงินบำเหน็จหรือบำนาญโดยเงื่อนไขปัจจุบันได้รับเมื่ออายุ 55 ปี ก็เปลี่ยนเป็นเงินบำเหน็จเมื่อทำงานครบกำหนด 4 ปี และต้องกลับประเทศต้นทาง คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ หลังจากนั้นจะเสนอต่อคณะกรรมการประกันสังคมเพื่อพิจารณาแก้ไขกฎหมายประกันสังคมต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น