xs
xsm
sm
md
lg

“เฉลิม” เตรียมดัน “จีรศักดิ์-ประวิทย์-นคร” นั่งปลัดแรงงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เงินสมทบและการรับสิทธิประโยชน์ “เฉลิม” ชี้ช่วยให้แรงงานนอกระบบมีความมั่นคงมากขึ้น ลั่นเตรียมดัน “จีรศักดิ์-ประวิทย์-นคร” ขึ้นแท่นปลัดแรงงาน
ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน
วันนี้ (3 ก.ย.) ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวในการเป็นประธานในพิธีวันครบรอบ 23 ปี วันคล้ายวันจัดตั้งสำนักงานประกันสังคม (สปส.) พร้อมมอบโล่และรางวัลให้แก่สถานพยาบาลในดวงใจ 20 แห่ง และมอบทุนการศึกษาแพทย์ ที่สำนักงานประกันสังคม จ.นนทบุรี ว่า ตลอดเวลา 23 ปีที่ผ่านมา สปส.มีความมุ่งมั่นในการสร้างหลักประกันในการดำเนินชีวิตแก่ผู้ประกันตน และพัฒนาเพิ่มสิทธิประโยชน์ รวมทั้งการให้บริการแก่ผู้ประกันตนอย่างไม่หยุดนิ่ง ซึ่งการดูแลผู้ประกันตนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ถือเป็นนโยบายที่ต้องส่งเสริม ให้ผู้ประกันตนได้รับสิทธิประโยชน์ที่ดี ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่เหมาะสมด้วย ดังนั้น สปส.ต้องรักษามาตรฐานนี้ไว้ และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การให้ทุนแพทย์และนิสิต นักศึกษาแพทย์ ก็เป็นสิ่งที่ดี ซึ่ง สปส.ควรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันตนได้มีนโยบายให้ สปส.ขยายการคุ้มครองระบบประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งวันนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทน ของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ซึ่งเป็นการเปิดทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคมมาตรา 40 จะทำให้แรงงานนอกระบบมีความมั่นคงในชีวิตมากขึ้น

ผมจะผลักดันให้ผู้บริหารกระทรวงแรงงานคือ นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) และนายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) โดยให้คนใดคนหนึ่งในสามคนนี้มีโอกาสได้เป็นปลัดกระทรวงแรงงาน แทน นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ที่จะเกษียณอายุราชการในเดือนกันยายนนี้ เพราะผู้บริหารกระทรวงแรงงานมีความรู้ความเข้าใจงานของกระทรวงเป็นอย่างดี ผมภาวนาให้คนใดคนหนึ่งได้เป็นปลัดกระทรวงแรงงาน” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคมมีเงินสะสมอยู่กว่า 1.05 ล้านล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นเงินสมทบสะสม 7.5 แสนล้านบาท และดอกผลสะสมจากการลงทุน 3 แสนล้านบาท ซึ่งเงินสะสม 90% ของกองทุนเป็นเงินออมชราภาพ ของผู้ประกันตน 11 ล้านคน เพื่อไว้รอจ่ายเป็นเงินบำเหน็จหรือบำนาญเมื่อเกษียณจากการทำงาน ส่วนที่เหลือ 10% เป็นเงินสำรองไว้จ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ 7 กรณี เช่น เจ็บป่วย ตาย ทุพพลภาพ เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2555 สปส.ได้จ่ายเงินสิทธิประโยชน์ทั้ง 7 กรณี รวมทั้งหมด 54,138 ล้านบาท นอกจากนี้ สปส.ยังได้ให้ทุนการศึกษาแพทย์เฉพาะทางสาขาอาชีวศาสตร์ 6 ทุนๆ ละไม่เกิน 3.3 แสนบาท และทุนการศึกษาวิชาแพทย์ 19 ทุนๆ ละ 2.4 แสนบาท แก่บุตรหลานผู้ประกันตน แต่วันนี้มอบให้ไปก่อน 3 ทุน เนื่องจากต้องรอสถาบันผลิตแพทย์ 16-17 แห่งส่งรายชื่อนิสิต นักศึกษาที่ได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุน เมื่อได้รายชื่อมาครบใน 16 ทุนที่เหลือก็จะมอบทุนต่อไป

เลขา สปส.กล่าวอีกว่า ก้าวต่อไปของ สปส.นั้น จะส่งเสริมให้แรงงานทุกกลุ่มเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ โดยตั้งเป้าหมายในปี พ.ศ.2557 จะมีผู้ประกันตนเพิ่มเป็น 17 ล้านคน ซึ่งร่างพระราชกฤษฎีกาการกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ที่ ครม.เห็นชอบวันนี้นั้นมีสาระสำคัญใน 3 ประเด็นคือ 1.คุณสมบัติโดยให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 15-65 ปี สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ในประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ในปีแรกที่เปิดรับสมัครสมาชิก หลังจากนั้นในปีต่อๆ ไปผู้สมัครต้องมีอายุ 15-60 ปี โดยทางเลือกที่ 3 ให้สิทธิประโยชน์เฉพาะเงินบำนาญกรณีชราภาพเท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากทางเลือกที่ 1 ที่ให้เงินสิทธิประโยชน์ทั้งกรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต และทางเลือกที่ 2 ซึ่งได้รับเงินสิทธิประโยชน์เช่นทางเลือกที่ 1 แต่เพิ่มสิทธิประโยชน์เงินบำเหน็จชราภาพ 2.การจ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีเสียชีวิตได้ค่าทำศพ 2 หมื่นบาทโดยผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบ 6 งวด ใน 12 เดือน ยกเว้นถ้าผู้ประกันตนเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุต้องจ่ายเงินสมทบอย่างน้อย 1 เดือน ภายใน 6 เดือน ซึ่งเงื่อนไขนี้ครอบคลุมทั้งผู้ประกันตนในทางเลือกที่ 1 และ 2 และ 3.การจ่ายเงินสิทธิประโยชน์บำนาญชราภาพ กรณีผู้ประกันตนเสียชีวิตก่อนได้รับสิทธิเงินบำนาญชราภาพครบ 5 ปี ทายาทก็จะได้รับเงินบำเหน็จตกทอด ซึ่งเงื่อนไขนี้ครอบคลุมทั้งผู้ประกันตนในทางเลือกที่ 3

หลังจากนี้จะมีการร่างพระราชกฤษฎีกาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาอีกครั้ง เชื่อว่าคงใช้เวลาไม่นาน เพราะกฤษฎีกาเคยตรวจเนื้อหาร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ไปแล้วรอบหนึ่ง จากนั้นก็จะเสนอ ครม.และคาดว่าปลายปีนี้น่าจะเปิดรับสมัครสมาชิกกองทุนประกันสังคมมาตรา 40 ทางเลือกที่ 3 ได้” นายจีรศักดิ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น