xs
xsm
sm
md
lg

แผนเปิดอาชีวะเพิ่ม 10 แห่ง สะดุด! “อ๋อย” สั่งทบทวนเน้นคุณภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จาตุรนต์” จ่อทบทวนเปิดสถาบันอาชีวะอีก 10 แห่ง ชี้ต้องจำกัดจำนวน นศ.ผลิตให้มีคุณภาพ ย้ำต้องไม่กระทบต่อการผลิตระดับ ปวช.และ ปวส.
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตนได้ฝากให้ที่ประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ไปพิจารณาเรื่องการเปิดการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาชีวศึกษา ในหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต ซึ่งเป็นหลักสูตรระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยี หรือสายปฏิบัติการ โดยเห็นว่าการเปิดสอนระดับปริญญาตรีของ สอศ.นั้น ไม่ควรเปิดสอนหรือทุ่มเททรัพยากรไปกับการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีมากเกินไป ซึ่งบอร์ด กอศ.เห็นด้วยกับนโยบายของตน เนื่องจากการเรียนการสอนระดับอาชีวศึกษาที่สำคัญต้องทุ่มเททรัพยากรไปกับการเน้นไปจัดการศึกษาในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เพื่อให้รองรับกับความต้องการของภาคเอกชน ไม่ใช่ทุ่มเททรัพยากรไปกับการสอนระดับปริญญาตรีจนกระทบต่อการจัดการศึกษาระดับ ปวช. ปวส.อีกทั้งในอนาคตจะมุ่งไปสู่การกำหนดสัดส่วนนักเรียนอาชีวศึกษาต่อสามัญศึกษาเป็น 51:49 จำเป็นต้องใช้ทรัพยากร บุคลากร งบประมาณ และอุปกรณ์การเรียนการสอนมหาศาล

ทั้งนี้ ปัจจุบัน สอศ.เปิดสอนระดับปริญญาตรีในสถาบันการอาชีวศึกษาแล้ว 9 แห่ง จากทั้งหมด 19 แห่ง มีนักศึกษาประมาณ 800 คนและอีก 10 แห่งที่เหลือจะทยอยเปิดเพิ่มในปีการศึกษา 2557 ซึ่งอาจจะต้องมาทบทวนว่าควรจะเปิดสอนทั้งหมดหรือไม่ โดยขณะนี้ตนยังไม่ได้ลงนามในหลักสูตรที่เสนอมา เพราะอยากจะขอดูในหลักการและดูข้อมูลให้ชัดเจนก่อนว่าแต่ละแห่งเปิดสอนโดยมุ่งเน้นคุณภาพและเป็นสายปฏิบัติการจริงหรือไม่ อีกทั้งจะต้องพิจารณาด้วยว่ามีอาจารย์ที่จบระดับปริญญาเอก ระดับปริญญาโทกี่คนเป็นตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือไม่ และมีห้องปฏิบัติการหรือไม่ ไม่ใช่อนุโลมหรือผ่อนผัน อย่างไรก็ตาม การเปิดสอนระดับปริญญาตรีจะต้องคำนึงถึงการผลิตคนให้มีคุณภาพและต้องจำกัดจำนวนบัณฑิตที่จะผลิตด้วย

เวลานี้เราต้องเน้นการจัดการศึกษาระดับ ปวช. และ ปวส.มากกว่าระดับปริญญาตรี เพราะเราต้องการสร้างค่านิยมว่าจบ ปวช.และ ปวส.มีโอกาสทำรายได้มากกว่าผู้ที่จบปริญญาตรีได้ แต่ถ้าไปเน้นการสอนระดับปริญญาตรีสายอาชีพมากเกินไป จะทำให้เกิดค่านิยมว่าต้องจบปริญญาตรีสายอาชีพก่อน ถึงจะมีรายได้สูง ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะจะทำให้การเรียนระดับ ปวช.และ ปวส.ล้มเหลว โดยขณะนี้ก็เกิดขึ้นแล้วว่าเด็กจบ ปวช.และ ปวส.ได้เงินเดือน 18,000-25,000 บาท อีกทั้งภาคเอกชนก็ยืนยันว่าหากมีการมากำหนดหลักสูตร และฝึกปฏิบัติงานร่วมกัน ภาคเอกชนก็พร้อมที่จะจ้างเด็กที่จบ ปวช.และ ปวส.แพงกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ดังนั้นการจะเปิดระดับปริญญาตรีจึงควรจะอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับทรัพยากรต่างๆ ที่จะต้องนำไปใช้ในการสอนระดับ ปวช.และปวส.” นายจาตุรนต์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น