xs
xsm
sm
md
lg

ส่ง นร.สายสามัญดูงานวิทยาลัยอาชีวะ กระตุ้นตัวเลขเด็กเรียนสายอาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“จาตุรนต์” สั่ง สอศ.ศึกษาความเป็นไปได้ จากตัวอย่างในต่างประเทศ ส่ง นร.สายสามัญดูงานวิทยาลัยอาชีวศึกษา และทดลองเรียน 2 สัปดาห์ หรืออย่างน้อยจัดให้ ร.ร.จัดโปรแกรมไปทัศนศึกษา หวังกระตุ้นตัวเลขเด็กเรียนสายอาชีพ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ (แฟ้มภาพ)
นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า มีงานวิจัยจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการสร้างกำลังคนสายอาชีพ เช่น เยอรมนี พบว่า การให้นักเรียนสายสามัญเข้าไปเรียนรู้ในสถาบันอาชีวศึกษาเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ เช่น 2 สัปดาห์ ช่วยให้เด็กเข้าใจการเรียนสายอาชีพและสนใจเลือกเรียนสายอาชีพเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้น จึงได้มอบนโยบายให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) นำแนวคิดนี้ไปศึกษาความเป็นไปได้ เพราะต้องการนำแนวคิดนี้มาใช้กับนักเรียนมัธยมในประเทศไทยบ้าง อย่างน้อยถ้าไม่สามารถส่งนักเรียนไปทดลองเรียนได้ ก็อาจทำในลักษณะจัดโปรแกรมไปทัศนศึกษาดูการเรียนการสอนของวิทยาลัยอาชีวศึกษาที่อยู่ใกล้ๆ โรงเรียน

อยากให้นักเรียน ม.3 หรือ ม.6 ได้มีโอกาสไปเรียนในวิทยาลัยอาชีวศึกษาเป็นช่วงเวลาสั้น ต่างประเทศให้เด็กไปทดลองเรียนประมาณ 2 สัปดาห์ หรือบางประเทศก็ 1 เดือน ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสเรียนรู้ว่า การเรียนสายอาชีพในสาขาวิชาต่างๆ นั้น เขาเรียนอะไรกันบ้าง ได้มีโอกาสรู้ว่าสายอาชีพเรียนจบอออกมาแล้วมีงานทำซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การเปลี่ยนทัศนคติของเด็ก การสร้างค่านิยมว่า เรียนสายอาชีพจบออกมาแล้วมีงานทำ ส่งผลอย่างมากต่อนโยบายดึงดูดให้เด็กมาเรียนสายอาชีพมากขึ้นเพื่อเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีพต่อสายสามัญเป็น 51:49” รมว.ศึกษาธิการ กล่าวและว่า ทั้งนี้ สอศ.จะต้องดำเนินการหลายๆ ด้านไปพร้อมกัน เพื่อให้นโยบายปรับสัดส่วนผู้เรียนประสบความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญสุด คือ ต้องเปลี่ยนค่านิยมการเรียนสายอาชีพให้ได้ สื่อสารกับผู้ปกครองและนักเรียนให้เข้าใจว่าผู้ที่เรียนจบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) มีโอกาสทำรายได้สูงกว่าผู้ที่จบปริญญาตรี

นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า นอกจากการปรับเปลี่ยนเรื่องค่านิยมแล้วตนได้ย้ำกับ สอศ.จะต้องปรับเปลี่ยนระบบแนะแนวด้วย ปัจจุบันยังมีปัญหาแย่งเด็กระหว่างสายสามัญกับสายอาชีพอยู่ เพราะฉะนั้นต้องทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ไม่ให้แย่งเด็กหรือปิดกั้นเด็กมาเรียนสายอาชีพ ในโรงเรียนจะต้องมีการให้ความรู้ในการเรียนสายอาชีพแก่เด็กมากขึ้น ระบบแนะแนวจะต้องปรับให้มีประสิทธิภาพและต้องสื่อสารไปยังผู้ปกครองด้วย

“มีความเป็นไปได้ในการปรับสัดส่วนสูงเพราะกรรมการบอร์ด กอศ.ส่วนภาคเอกชน ที่ดูแลนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ให้ข้อมูลว่าเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมแห่งนั้นที่เดียวต้องการแรงงานฝีมือ ภายใน 5 ปีกว่า 5 แสนคน ขณะที่ยอดนักเรียนที่จบมัธยมศึกษาตอนต้น มีแค่ 9 แสนคน หากครึ่งหนึ่ง หรือ 5 แสนคนเลือกเรียนต่อสายอาชีพแล้ว เฉพาะนิคมอุตสาหกรรมแห่งนั้นต้องการคนปีละกว่า 1 แสนคน เพราะฉะนั้น การเพิ่มผู้เรียนสายสามัญไม่มีปัญหาเรื่องตำแหน่งงานรองรับ แต่ สอศ.จะต้องจัดระบบให้ดี เพราะตัวเลขผู้เรียนจะต้องเพิ่มขึ้นมาก” นายจาตุรนต์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น