xs
xsm
sm
md
lg

เสนอ กทม.แก้ปัญหารถ 1.2 แสนคันติดคา ถ.เพชรเกษม ที่ 5 จุดตัด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โยธา กทม.เล็งแก้ปัญหารถ 1.2 แสนคันต่อวัน ติดแหงก ถ.เพชรเกษม สรุปแก้บริเวณ 5 จุดตัด เตรียมเสนอผู้บริหาร กทม.พิจารณาปลายปี คาดหากได้งบน้อยจะดำเนินการทีละจุด เน้นจุดที่ไม่มีการเวนคืนก่อน เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
วันนี้ (15 ส.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. ที่ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมจอลลี สวีท แอนด์สปา นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 โครงการจ้างที่ปรึกษาสำรวจ ออกแบบ เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร ถนนเพชรเกษม จากแยกท่าพระ ถึงสุดเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อนำเสนอผลสรุปการศึกษาแนวทางแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณ 5 จุดตัดบนถนนเพชรเกษม พร้อมรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกภาคส่วน โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ เข้าร่วมงานสัมมนากว่า 200 คน

นายทวีศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันถนนเพชรเกษมมีการจราจรที่หนาแน่น มีจำนวนรถยนต์เฉลี่ย 120,000 คันต่อวัน และในเวลาเร่งด่วนที่บริเวณ 5 จุดตัด มีจำนวนรถยนต์ประมาณ 9,000-10,000 คัน ซึ่งเกินขีดความสามารถที่จะรองรับได้ ที่ควรจะไม่เกิน 6,000 คัน จึงมีความจำเป็นในการแก้ปัญหาจราจรบนถนนเพชรเกษม ในพื้นที่เขตบางกอกใหญ่ เขตภาษีเจริญ เขตบางแค และเขตหนองแขม ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านธุรกิจ ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และย่านที่อยู่อาศัยของประชาชน แม้จะมีระบบขนส่งมวลชนเข้ามาช่วย แต่ความต้องการสัญจรทางถนนยังคงมีความจำเป็นในการเดินทางของประชาชนและการขนส่งสินค้าในพื้นที่ ดังนั้นการจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังข้อคิดเห็นต่อโครงการ เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางการแก้ปัญหาจราจรที่เป็นไปตามมาตรฐานการพัฒนาเมืองและสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมากที่สุด

ทั้งนี้ การสัมมนาในครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย โดยได้นำเสนอผลสรุปรูปแบบและการปรับปรุงทางแยก 5 จุดตัดบนถนนเพชรเกษมที่เหมาะสมที่สุด พร้อมทั้งการวิเคราะห์ความเหมาะสมด้านเศรษฐศาสตร์และการลงทุน งบประมาณรวม 1,458 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.จุดตัด ถนนเพชรเกษม-ถนนบางแค เสนอใช้รูปแบบสะพานยกระดับขนาด 1 ช่องจราจร เลี้ยวขวาออกจากถนนบางแค มุ่งหน้าถนนเพชรเกษมขาเข้าเมือง พร้อมทั้งขยาย ถนนบางแค จาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร มูลค่าการก่อสร้าง 95 ล้านบาท ไม่มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

2.จุดตัด ถนนเพชรเกษม-ถ.พุทธมณฑล สาย 2 เสนอใช้รูปแบบสะพานยกระดับ ขนาด 1 ช่องจราจร เลี้ยวขวาออกจาก ถนนพุทธมณฑล สาย 2 เข้าสู่ ถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปนครปฐม และสะพานยกระดับขนาด 1 ช่องจราจร เลี้ยวขวาจากถนนเพชรเกษม (ขาออกเมือง) เข้าสู่ถนนพุทธมณฑล สาย 2 มูลค่าการก่อสร้าง 304 ล้านบาท ไม่มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

3.จุดตัด ถนนเพชรเกษม-ถนนทวีวัฒนา เสนอใช้รูปแบบสะพานยกระดับ 2 ทิศทาง (แนวทิศเหนือ-ทิศใต้) ทิศทางละ 1 ช่องจราจร ข้าม ถนนเพชรเกษม ตามแนว ถนนทวีวัฒนา และ ถนนเพชรเกษม 69 มูลค่าการลงทุนรวม 412 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 196 ล้านบาท และค่าเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 216 ล้านบาท

4.จุดตัด ถนนเพชรเกษม-ถนนพุทธมณฑล สาย 3 เสนอใช้รูปแบบสะพานยกระดับ ขนาด 1 ช่องจราจร เลี้ยวขวาออกจากถนนพุทธมณฑล สาย 3 เข้าสู่ ถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าไปนครปฐม และสะพานยกระดับขนาด 1 ช่องจราจร เลี้ยวขวาจากถนนเพชรเกษม (ขาออกเมือง) เข้าสู่ ถนนพุทธมณฑล สาย 3 มูลค่าการก่อสร้าง 304 ล้านบาท ไม่มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์

และ 5.จุดตัด ถ.เพชรเกษม-ถนนมาเจริญ เสนอใช้รูปแบบเป็นสะพานยกระดับ ขนาด 1 ช่องจราจร เลี้ยวขวาจาก ถนนเพชรเกษม (ขาเข้าเมือง) เข้าสู่ ถนนมาเจริญ และสะพานยกระดับ ขนาด 1 ช่องจราจร ออกจากถนนมาเจริญ เลี้ยวขวาเข้าสู่ ถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าเข้าเมือง มูลค่าการลงทุนรวม 343 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 219 ล้านบาท และค่าเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ 124 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการศึกษาเรื่องการจัดจราจรในพื้นที่โครงการ ซึ่งประกอบด้วยการจัดการจราจรบริเวณสถานีรถไฟฟ้า การศึกษาความเหมาะสมของจุดกลับรถบนถนนเพชรเกษม แนวคิดในการออกแบบการใช้พื้นที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าอย่างเหมาะสม รวมทั้งการปรับปรุงทางกายภาพบริเวณพื้นที่โครงการ

นอกจากนี้ สนย.ได้เตรียมแผนระยะยาวเพื่อพัฒนาโครงข่ายเพิ่มเติม อาทิ การเชื่อมต่อ ถนนพุทธมณฑล สาย 3 กับถนนบางบอน 4, การเชื่อมต่อ ถนนพุทธมณฑล สาย 2 กับ ถนนกัลปพฤกษ์, การเชื่อมต่อ ถนนเทอดไท กับ ถนนเลียบคลองภาษีเจริญฝั่งใต้ และการเชื่อมต่อ ถนนกัลปพฤกษ์ กับ ถนนพุทธสาคร เป็นต้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายถนนเพชรเกษมให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนในพื้นที่และผู้สัญจรไปมา ได้รับความสะดวก รวดเร็วมากยิ่งขึ้น” นายทวีศักดิ์ กล่าว

นายทวีศักดิ์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าภายในปลายปีนี้จะนำเสนอรูปแบบและรายละเอียดของโครงการต่อผู้บริหาร กทม.เพื่อพิจารณาอนุมัติการก่อสร้าง ซึ่งความจริงแล้วควรจะก่อสร้างพร้อมกันทั้ง 5 จุด แต่หากได้รับงบประมาณจำกัดก็จะต้องทยอยทำทีละจุด โดยจะเลือกจุดที่วิกฤติที่สุด และจุดที่ไม่ต้องเวนคืนก่อน แต่ละจุดจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 18 เดือน หากสามารถแก้ไขทั้ง 5 จุดตัดแล้วเสร็จ จะทำให้การจราจรถนนเพชรเกษมคล่องตัวมากขึ้น ส่วนผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมนั้นมีน้อยมากเพราะแต่ละจุดเป็นทางยกระดับสั้นๆ ประมาณ 400-500 เมตรเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น