xs
xsm
sm
md
lg

สธ.สะเทือน “ประดิษฐ” ย้ายข้ามหัว ส่งผลปฏิรูปกระทรวงเหลว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดย...ดวงจำปา

โผโยกย้าย สธ.ปีนี้ต้องเรียกว่ามาแบบสายฟ้าแลบ เมื่อ สองคู่หูดูโอ นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวง สธ.ชิงตัดหน้า ลงมือเร็ว ต่างจากปีก่อนที่กว่าจะรู้ก็ค่อนเดือน ก.ย.เล่นเอานักข่าวตั้งตัวไม่ทัน ทุกปีนักข่าว สธ.จะมีธรรมเนียมเขียนโผโยกย้ายก่อนย้ายจริง แต่ปีนี้เจอยุทธการสายฟ้าแลบเข้าให้ซะก่อน แรงกระเพื่อมที่จะเกิดจากการผิดโผ โผพลิก จึงไม่เกิดในทันที นาทีนี้จึงต้องบอกว่า ประดิษฐ และณรงค์ เก็บแต้มนี้ไปได้

แต่ช้าก่อน พอหายจากอาการมึนงง ตอนนี้กลุ่มผู้ตรวจราชการที่อกหักแบบไม่ทันตั้งตัวจากการแต่งตั้งครั้งนี้ ก็เริ่มส่งผลกระทบกับการเดินหน้าปฏิรูปกระทรวงที่ประดิษฐ หมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องทำให้ได้ โดยเฉพาะการตั้งเป้าหมาย service plan 12 เขตบริการสุขภาพ

นั่นเพราะการแต่งตั้งครั้งนี้ ข้ามหัวหลักอาวุโส ผลงาน และฝีมือการทำงานสำหรับคนที่เป็นผู้ตรวจและรอจ่อเป็นรองปลัดหลายคน

ที่แน่ๆ นพ.อำนวย กาจีนะ ที่ถือว่าเป็นคนสนิทของประดิษฐ เป็นที่ปรึกษาใกล้ชิดรัฐมนตรี เพิ่งเป็นผู้ตรวจได้ไม่ถึงปี ขณะที่ฝีมือการทำงานก็ยังไม่ถึงขั้น แต่ครั้งนี้ความเป็นคนสนิท รมต.ถูกปูนบำเหน็จเป็นรองปลัด

นพ.ทรงยศ ชัยชนะ คือสายเชียงใหม่ สนิทกับปลัดณรงค์ ในฐานะหมอรุ่นน้อง จบจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่เดียวกัน เป็นทรงยศคนเดียวกับที่แพทย์ชนบทออกแฉว่า มีคำสั่งไม่ให้จัดเงินเพิ่มให้กับโรงพยาบาลที่ไม่ทำ P4P ในเขต 3 นั่นเอง

ขณะที่ นพ.นิทัศน์ รายยวา ที่ภาพลักษณ์แพทย์ชนบทติดตัวชนิดสลัดไม่หลุด ก็ไม่เป็นที่ประสงค์ของปลัดณรงค์ และ รมต.ประดิษฐ แน่นอนว่าต้องปิ๋วกลับไปเป็นผู้ตรวจเหมือนเดิม และจะเกษียณในตำแหน่งนี้ในปีหน้า

นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ ซึ่งถูกมองว่าเป็นคนสนิทวิทยา บุรณศิริ อดีต รมต.สธ.คราวนี้ไม่รอด ปิ๋วจากกรมใหญ่อย่างควบคุมโรคไปอยู่กรมอนามัย แบบไม่มีเสียงคัดค้าน เพราะผลงานการควบคุมโรคที่น่าผิดหวัง

ประเพณีของหมอนักบริหารใน สธ.เส้นทางไปสู่ตำแหน่งบริหารจะเริ่มจาก นพ.สสจ. ขยับเป็นรองอธิบดี แล้วจึงรอจ่อเป็นรองปลัด ผู้ตรวจ และอธิบดี (ก่อนจะชิงตำแหน่งสูงสุดปลัด) ซึ่งทั้ง 3 ตำแหน่งนี้ แม้ระดับจะเท่ากัน แต่ศักดิ์ศรี รองปลัดและอธิบดี ดีกว่าผู้ตรวจแน่นอน

ผลจากการที่ประดิษฐและปลัดดึงเอาคนใกล้ชิดตัวเองมาเป็นรองปลัด โดยข้ามหัวหลักอาวุโส ผลงาน และฝีมือ ก็ทำให้นับจากนี้ไป สธ.จะทำงานได้ยากขึ้นอีก เพราะรองปลัด 4 คน ไม่มีบารมีเพียงพอที่จะเดินหน้างาน ไม่นับของเดิมเมื่อครั้งแต่งตั้งปีที่แล้ว ที่ นพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ ข้ามจาก ผอ.สำนักหนึ่งแล้วขึ้นมาเป็นรองปลัดได้ เพราะถือว่าการเมืองสั่งมา ไม่เคยเป็นแม้กระทั่งตำแหน่ง นพ.สสจ.และรองอธิบดี แต่ก็เข้าสู่ตำแหน่งรองปลัดได้สำเร็จ จุดนี้ก็สั่นสะเทือนสธ.มาคำรบหนึ่งแล้ว และมาปีนี้ก็ซ้ำรอยเดิมอีกเช่นกัน

เมื่อครั้งที่มีนโยบาย 12 เขตสุขภาพนั้น ผู้ตรวจราชการทั้ง 12 คน ต่างทำงานแข่งขันกัน เพราะเชื่อว่าผลงานจะเข้าตา และได้เป็นรองปลัด แต่เมื่อผลแต่งตั้งเป็นเช่นนี้ ทำให้ระดับผู้ตรวจราชการสั่นคลอน ผู้อาวุโสที่รอขึ้นอย่าง นพ.ทวีเกียรติ ซึ่งจะเกษียณปีหน้า ก็อกหัก และนิทัศน์ก็ถูกลดชั้นมาอยู่ที่ผู้ตรวจแทน

ในแวดวงคนทำงาน ผู้ตรวจ 12 คน ที่อาวุโส และฝีมือถึงสามารถขึ้นเป็นรองปลัดได้สบาย มีอาทิ นพ.ทวีเกียรติ บุญไพศาลเจริญ นพ.สุริยะ วงศ์คงคาเทพ นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย นพ.จักรกฤษณ์ ภูมิสวัสดิ์ ซึ่งแต่ละคนเป็นผู้ตรวจมาแล้วหลายปี และหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้ ก็คงต้องเป็นผู้ตรวจตลอดไป (ฮา)

งานนี้ผู้สันทัดกรณีจึงฟันธงว่า ความฝันที่ประดิษฐ และปลัดจะปฏิรูป สธ.ไปไม่ถึงฝันแน่ นอกจากทีมงานไร้ฝีมือ ไม่มีบารมีพอ จนทำให้การบังคับบัญชามีปัญหาแล้ว ยังตอกย้ำวัฒนธรรมสุดแปลกของไทยว่า ถ้าอยากได้ดีต้องวิ่งหาผู้มีอำนาจเท่านั้น งานนี้จึงไม่ได้วัดกันที่ฝีมือ แต่วัดกันที่ความสนิทและสายใครเท่านั้น ดังนั้น จึงอย่าหวังว่าปรากฏการณ์ที่ผู้ตรวจแข่งกันทำงานแบบที่เกิดในปีนี้ (ก่อนจะอกหัก) จะเกิดขึ้นอีก เพราะทำไปก็เท่านั้น เอาเวลาไปออกรอบก่อนเกษียณดีกว่า (ฮา)

และสำหรับม๊อบแพทย์ชนบท ที่จะเริ่มฮึ่มๆ กับ พีฟอร์พีรอบสอง งานนี้ก็ขอเตือนประดิษฐ และณรงค์ได้เลยว่า คงจะเจอกับเกียร์ว่างของผู้ตรวจอกหัก ที่ปล่อยให้แพทย์ชนบทม๊อบได้อย่างเสรี โดยไม่ต้องเกรงใจ กั๊กๆ ผู้ตรวจอีกต่อไป

อย่างไรก็ตาม 1 ปี ที่ประดิษฐ เป็น รมว.สธ.มา ผ่านมรสุม P4P มาอย่างหนักหน่วง และประคองตัวมาได้จนไม่หลุดจากปรับ ครม.ครั้งล่าสุด ก็ยังไม่เห็นผลงานที่ชัดเจน แต่สิ่งหนึ่งที่ยอมรับกันโดยทั่วไปคือ ประดิษฐ มีความตั้งใจที่จะทำงาน แต่จุดอ่อนคือ เลือกใช้คนผิด เมื่อครั้งเปิดศึกกับตระกูล ส.กว่าประดิษฐจะรู้ตัวและกลับลำทัน ไม่ลุยไปกับกระทรวงเหมือนเดิม ก็เกือบแย่

อันที่จริง ส.ทุกวันนี้ เป็น ตระกูล ส.ที่หงอให้กับ สธ.เกือบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ส.อย่าง สปสช. ที่อ่อนข้อให้ สธ.มาโดยตลอด แต่คน สธ.มักมองว่า ตระกูล ส.คือพวกนอกคอก ที่มาแย่งบทบาท สธ.แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า พวกตระกูล ส.นี่แหละ ที่สร้างผลงานให้ สธ.ได้เป็นชิ้นเป็นอัน ซึ่งจุดนี้ ประดิษฐ และ ณรงค์ ก็ตระหนักดี แต่อาจจะยากที่จะยอมรับว่า คน สธ.ฝีมือไม่ถึง อาจจะด้วยจากโครงสร้างเทอะทะ และความเป็นราชการจ๋า

เป็นที่รู้กันดีวว่า เบื้องหลังนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉิน เอดส์ ไต มาตรฐานเดียว และแนวคิดลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุนทั้งหลาย ล้วนมาจาก สปสช.ทั้งสิ้น ซึ่งนี่เป็นจุดแข็งของคนตระกูล ส.คือ ผลงานและฝีมือ

แต่โชคดีที่การเปิดศึกกับตระกูล ส.จบลงแบบต่างคนต่างทำงาน
แต่กับการโยกย้ายปีนี้ไม่เหมือนกัน เพราะครั้งนี้ ประดิษฐ และ ณรงค์ กำลังเปิดศึกภายใน กับกลุ่มผู้ตรวจราชการ จึงเท่ากับว่า สองคู่หูดูโอนี้ กำลังทำให้ สธ.สั่นคลอน
หากยังมองคนไม่ออก ใช้คนไม่เป็น เวลาที่เหลืออยู่ก็ไม่แน่ว่าจะสร้างผลงานได้สมกับที่ตั้งใจและให้ข่าวไว้ได้หรือไม่ เพราะถึงทุกวันนี้ยังไม่มีอะไรที่สำเร็จเดินหน้าเป็นรูปธรรมชัดเจน

ต่างจากวิทยา ที่ยกผลงาน เจ็บป่วยฉุกเฉิน ลดเหลื่อมล้ำ เจ็ดสิบปีไม่มีคิวมาหากินได้สบาย นั่นเพราะวิทยาใช้จุดแข็งของตนที่เป็นนักการเมือง เข้ากับคนง่าย ตามตำรา อ่านคนออก บอกคนได้ ใช้คนเป็น จึงมีผลงานที่อวดได้ไม่อายใคร

แต่กับ ประดิษฐ ยังไม่เห็นความชัดเจน ลดเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน จากที่เคยคึกคักมาแรงเมื่อปีที่แล้ว ตอนนี้ก็ออกทะเลไปไกลจนกู่ไม่กลับ เรื่องที่เสนอให้นายกในการประชุม ต่างไม่ใช่หัวใจหลักของการลดเหลื่อมล้ำแม้แต่น้อย เป็นแต่เพียงการแตะขอบๆ เท่านั้น

นาทีนี้จึงบอกได้แต่เพียงว่า ประดิษฐยังพอมีเวลากลับหลังหัน และทบทวนทัน
การบริหารคนโดยเฉพาะกระทรวงหมอที่เขี้ยวลากดินนี้ ไม่ง่ายเหมือนทำธุรกิจ แต่ไม่ยากถ้าจะลดอีโก้ลง ความตั้งใจดีของประดิษฐเป็นสิ่งดี แต่ถ้าจะสัมฤทธิผล ก็เลือกคบคนให้ถูก มองคนให้ออก และใช้คนให้เป็น


กำลังโหลดความคิดเห็น