xs
xsm
sm
md
lg

ผู้บริโภคสุดทน! “เชฟโรเลต” ปัญหาเพียบเสี่ยงอุบัติเหตุ ร้อง สคบ.จัดการด่วน (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนำผู้เสียหายกว่า 20 คน บุก สคบ.เรียกร้องจัดการผู้ผลิตรถเชฟโรเลต ครูซ และแคปติวา หลังพบซื้อมาขับแล้วเจอปัญหาเสี่ยงต่อความปลอดภัยเพียบ ทั้งคันเร่งค้าง เครื่องเร่งเอง เกียร์เปลี่ยนเอง จวกบริษัทบ่ายเบี่ยงรับผิดชอบ ให้เวลา 7 วันเรียกไกล่เกลี่ย วอนใช้ กม.คุมการจำหน่ายชั่วคราว ด้าน สคบ.ขอพิจารณาปัญหาก่อน ชี้ต้องตรวจสอบรถพิสูจน์ปัญหา

วันนี้ (15 ส.ค.) เมื่อเวลา 10.30 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นำโดย นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้นำผู้เสียหายจำนวนกว่า 20 ราย ยื่นหนังสือต่อ สคบ.กรณีซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต ครูซ และแคปติวา ซึ่งผลิตโดย บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จำหน่ายโดย บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด แล้วได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากความชำรุดบกพร่องของสินค้า โดยมี นางชื่นสุข เมธากุลวัฒน์ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านฉลาก เป็นตัวแทน สคบ.รับเรื่องร้องเรียน

นายอิฐบูรณ์ กล่าวว่า มูลนิธิฯได้รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวจากผู้บริโภค จึงนำเอกสารประกอบการร้องเรียนจำนวนทั้งหมด 26 ราย มายื่นให้แก่ สคบ.โดยเรียกร้องให้ สคบ.ดำเนินการกับผู้ประกอบการ ดังนี้ 1.เรียกผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ยภายใน 7 วัน 2.หากเจรจาไม่ได้ ขอให้ สคบ.ดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค และ 3.ขอให้ สคบ.ใช้อำนาจตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการดำเนินการทดสอบหรือพิสูจน์โดยทันที พร้อมออกคำสั่งห้ามขายรถยนต์เชฟโรเลต รุ่นที่มีการร้องเรียนเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะทราบผลการพิสูจน์ เพราะความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นของรถยนต์อาจก่อให้เกิดอันตราย และขอให้มีคำสั่งให้บริษัทรับซื้อรถยนต์คืน หากพิสูจน์ได้ว่า รถยนต์มีความบกพร่องจนก่อให้เกิดอันตรายแก่ชีวิต

นายอิฐบูรณ์ กล่าวอีกว่า สำหรับปัญหาโดยรวมสรุปได้ออกเป็น 3 ด้านคือ 1.ปัญหาด้านความปลอดภัย โดยพบว่า รถคันเร่งค้าง เครื่องเร่งเองโดยไม่ได้เหยียบคันเร่ง ทำให้รถพุ่งไปข้างหน้าเอง ในขณะจอดติดเครื่องยนต์ความเร็วรอบเครื่องเพิ่มขึ้นเองมากถึง 5,000 รอบต่อนาทีโดยอัตโนมัติ จนไม่สามารถควบคุมการขับขี่ได้ นอกจากนี้ ยังพบว่า เกียร์อัตโนมัติทำงานผิดปกติ เช่น มีอาการกระตุกรุนแรงในขณะเปลี่ยนเกียร์ มีการเปลี่ยนจากเกียร์สูงลงเป็นเกียร์ 1 เองโดยที่รถยังวิ่งด้วยความเร็วสูง และระบบเกียร์ล็อกลำดับเกียร์ไม่ยอมเปลี่ยน โดยล็อกอยู่ที่เกียร์เดิมตลอดเวลา เป็นต้น 2.ปัญหาสร้างความเดือดร้อนรำคาญ เช่น แอร์มีเสียงดังเมื่อเปิดใช้งาน เบรกมีเสียงดังเมื่อถอยรถ เป็นต้น และ 3.ปัญหาศูนย์บริการ และ Call Center 1734 ของบริษัท เชฟโรเลต ทั้งนี้ ขอให้ สคบ.รับเรื่องดังกล่าวมาพิจารณา โดยเฉพาะเรื่องระบบเกียร์เป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเกี่ยวข้องในเรื่องความปลอดภัยของผู้บริโภค

นายณธกร แก้วชิน ผู้เสียหาย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดบ่อยที่สุดคือ เกียร์กระชาก ขณะกำลังขึ้นเขาแซงรถพ่วงได้ครึ่งคัน แต่เกียร์ค้างไม่เปลี่ยน ซึ่งขณะนั้นเป็นเวลาค่ำ ต้องเปิดไฟฉุกเฉิน เพื่อประคองรถเข้าข้างทาง ตรงนี้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ที่ผ่านมามีการซ่อมมาแล้วหลายครั้ง จนต้องส่งมาซ่อมที่ศูนย์สำนักงานใหญ่ ตนต้องเดินทางจากอุดรธานีเพื่อมาดูรถยนต์ที่กรุงเทพฯ ตลอด ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย วันนี้ต้องการให้บริษัทรับซื้อรถคืน

น.ส.มยุรี มั่นใจ ผู้เสียหาย กล่าวว่า ตนจำเป็นต้องขับรถจากนครปฐมเพื่อมาทำงานที่นนทบุรี อาการที่พบคือ เกียร์เร่งไม่ขึ้น กระตุกอย่างแรง หากเครื่องร้อนมากก็ยิ่งเกิดปัญหา ทำให้ขึ้นเนินสะพานไม่ได้ รถถอยหลังเกือบถูกรถที่ตามมาชน ซึ่งบริษัทได้ทำการตรวจสอบให้หลายครั้งแล้ว แต่บอกเพียงว่ารถปกติดี ตนซื้อรถใหม่ก็หวังว่าจะไม่ต้องซ่อม แต่ปัจจุบันซ่อมแล้วซ่อมอีก เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย จึงหวังว่าหน่วยงานรัฐจะช่วยตรวจสอบช่วยเหลือเยียวยาผู้เสียหายและมีมาตรการที่จะให้บริษัทชดใช้ค่าเสียหายมากกว่าการซ่อม

ด้าน นางชื่นสุข กล่าวว่า ตนยังไม่ได้อ่านเอกสารการร้องเรียนว่าผู้ร้องเรียนแต่ละท่านประสบปัญหาอย่างไรบ้าง และปัญหาของรถแต่ละคันเกิดขึ้นที่จุดเดียวกันหรือไม่อย่างไร ซึ่งการที่เรียกร้องให้ สคบ.เรียกผู้ประกอบการมาไกล่เกลี่ยภายใน 7 วัน ก็จะพยายามเร่งดำเนินการให้ แต่อยากจะขอเวลาดำเนินการเป็น 15 วัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องอาศัยเวลาในการตกผลึกปัญหาของรถแต่ละคัน เพื่อที่จะทำการเจรจาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการพิสูจน์รถยนต์ของผู้ร้องเรียนก่อนอื่นต้องพิจารณาข้อมูลก่อนว่า ข้อมูลปัญหาและการซ่อมจากผู้ร้องและศูนย์ตรงกันหรือไม่ ถ้าเป็นประเด็นปัญหาเดียวกันอาจไม่ต้องพิสูจน์ก็ได้ แต่หากเป็นคนละปัญหาก็ต้องมีการพิสูจน์ โดยต้องมีคนกลางที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับเป็นผู้ทำการพิสูจน์ ซึ่งในการพิสูจน์นั้นต้องพิสูจน์ทั้งรถของผู้ร้องเรียนและรถยนต์ที่เพิ่งผลิตใหม่จำนวน 3 คันจากบริษัท เพื่อเปรียบเทียบมาตรฐานว่าต่างกันหรือไม่ หากของผู้บริโภคต่างกันแสดงว่ามีปัญหา

นางชื่นสุข กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หาก สคบ.พบว่าปัญหาหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นภาพรวม คือ ทั้ง 20 กว่าคันมีปัญหาที่จุดเดียวกันเหมือนกันทั้งหมด แสดงว่ามีปัญหามาก กรณีนี้ถือเป็นเรื่องที่อาจเกิดผลกระทบกับคนหมู่มาก สคบ.จะเจรจากับผู้ประกอบการโดยตรงเพื่อทำการพิสูจน์ โดยมีนักวิชาการที่มีความรู้ในเรื่องเทคนิคเครื่องยนต์เป็นผู้พิสูจน์ตรวจสอบปัญหา ซึ่งประเด็นนี้จะไม่เกี่ยวข้องกับทางผู้บริโภค เพราะถือเป็นปัญหาภาพรวมที่ภาครัฐต้องเข้าไปเจรจากับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ผู้ร้องเรียนได้ขับรถคันที่มีปัญหาเพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าขณะขับรถนั้น เกิดปัญหาและความผิดปกติอย่างไรบ้าง ชมคลิป!












ระหว่างการทดสอบขับรถเพื่อพิสูจน์ปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น