สกศ.วิจัยหาสูตรจัดสรรค่าใช้จ่ายรายหัวที่เหมาะสม เสนอจ่าย Top up โรงเรียนเฉพาะกลุ่มที่ขาดแคลน ห่างไกล ทุรกันดาร
วันนี้ (14 ส.ค.) น.ส.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) เปิดเผยว่า ตามที่ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มอบหมายให้ สกศ.ไปศึกษาหาสูตรที่เหมาะสมสำหรับคำนวณการจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งจะมีผู้เรียนทุกสังกัดเกี่ยวข้องจำนวนประมาณ 11 ล้านคนนั้น ที่ผ่านมา รัฐจัดสรรงบประมาณค่าใช้จ่ายรายหัวให้กับผู้เรียนทุกคนใน 5 รายการคือ ค่าจัดการเรียนการสอน ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าเครื่องแบบนักเรียน และค่าจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ดังนั้น หากจะต้องมีการปรับปรุงค่าใช้จ่ายรายหัวใหม่จะต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) และสำนักงานส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ซึ่งจากการเชิญมาร่วมหารือ ได้ข้อสรุปเบื้องต้นทุกหน่วยงานเห็นตรงกันว่าถ้าเปลี่ยนการจัดสรรรายหัวใหม่เป็นการจัดสรรแบบ Fixed cost ในส่วนค่าใช้จ่ายพื้นฐานที่จำเป็นแก่โรงเรียน ยกเว้น ค่าเครื่องแบบ กับค่าอุปกรณ์การเรียนที่ยังจัดสรรให้เด็กโดยตรง เมื่อคำนวณแล้วไม่แตกต่างจากการจัดสรรเป็นค่าใช้จ่ายพื้นฐาน 5 รายการ ที่ทำอยู่มากนัก ที่ประชุมจึงเสนอว่าให้มีการจัดสรรเงินอุดหนุนแบบเดิม แต่ให้มีการจัดสรรเพิ่มเติมเป็นค่าใช้จ่าย Top up แต่จะจัดให้เฉพาะสถานศึกษาที่อยู่ห่างไกล ทุรกันดาร และมีปัญหาจริงๆ โดยให้ทุกหน่วยงานไปสรุปข้อมูลทั้งหมดว่าควรจะจัดสรรเพิ่มเติมให้แก่สถานศึกษาใดบ้าง วงเงินเท่าไหร่มาเสนอ สกศ.ในวันศุกร์ที่ 16 ส.ค.เพื่อ สกศ.จะได้รวบรวมเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ในวันจันทร์ที่ 19 ส.ค.นี้
“จากการรับฟังข้อมูลพบว่า สูตรคำนวณค่าใช้จ่ายรายหัวที่ใช้อยู่ ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนขนาดกลางและเล็กของ สพฐ.เพราะมีจำนวนนักเรียนน้อยเมื่อได้ค่าใช้จ่ายรายหัวมาจะต้องนำไปใช้จัดการเรียนการสอนด้วยซึ่งไม่เพียงพอ โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ 14,000 โรง จะได้รับผลกระทบมากที่สุด ส่วน สอศ.จะมีประมาณ 180 กว่าวิทยาลัยที่ได้รับผลกระทบโดยส่วนใหญ่จะเป็นวิทยาลัยที่อยู่ห่างไกล เช่น วิทยาลัยการอาชีพและวิทยาลัยสารพัดช่าง สำหรับ กศน.ระบุว่าการจัดสรรวิธีนี้ กศน.ไม่ได้รับค่าจ้างครูจึงต้องใช้ค่าใช้จ่ายรายหัวของเด็กไปจ้างครู เมื่อค่าใช้จ่ายรายหัวน้อย ก็ส่งผลให้ครูได้เงินเดือนน้อยตามไปด้วย โดยเด็กที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเด็กที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดารตามเกาะตามดอย ขณะที่สช.ได้รับผลกระทบเฉพาะเงินเดือนครู ซึ่งอยู่ระหว่างขอปรับเงินเดือนเป็น 15,000 บาท” น.ส.ศศิธารา กล่าว