xs
xsm
sm
md
lg

อย.เผย ไม่พบนมผงใช้เวย์โปรตีนปนเปื้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
อย.เผยไม่พบผู้ประกอบการใช้เวย์โปรตีนล็อตที่ปนเปื้อนจากแดนกีวี ในนมผงทารก นอกเหนือจาก 5 รายการของดูเม็กซ์ ส่วนในต่างประเทศและไทย ยังไม่มีรายงานป่วยจากการปนเปื้อนของแบคทีเรีย

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า หลังจาก อย.เชิญผู้ประกอบการนำเข้านมและอาหารทารก เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 6 ส.ค.ที่ผ่านมา และให้ผู้ประกอบการแต่ละรายกลับไปดำเนินการตรวจสอบว่ามีการนำเข้าและใช้เวย์โปรตีนล็อตที่มีการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียจากประเทศนิวซีแลนด์เป็นส่วนผสมหรือไม่ โดยให้ส่งผลการตรวจสอบกลับมายัง อย.ภายในวันที่ 8 ส.ค. ล่าสุด อย.ได้รับข้อมูลจากผู้ผลิต นำเข้า และจำหน่ายทั้ง 6 บริษัทแล้ว ได้แก่ บริษัท มี้ด จอห์นสัน นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท แอ๊บบอต ลาบอแรตอรีส จำกัด, บริษัท เนสท์เล่ (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท สโนว์แบรนด์ สยาม จำกัด, บริษัท ไวเอท นิวทริชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และ บริษัท แปซิฟิก เฮลธ์แคร์ (ไทยแลนด์) จำกัด โดยจำนวนผลิตภัณฑ์นมดัดแปลงและอาหารทารกสำหรับเด็กเล็กที่แจ้งรวม 73 รายการ พบว่า ไม่มีบริษัทใดนำเข้าหรือใช้เวย์โปรตีนล็อตที่เป็นปัญหาเป็นวัตถุดิบแต่อย่างใด โดยแต่ละบริษัทนำเข้าเวย์โปรตีนจากยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ซึ่งไม่ใช่ฟอนเทอร์รา

นพ.บุญชัย กล่าวอีกว่า ขณะนี้ไม่มีรายงานผู้ป่วยจากสารพิษโบทูลินัมจาก 6 ประเทศที่ใช้ผลิตภัณฑ์นี้ และประเทศไทย แต่ อย.ยังคงติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสปนเปื้อน ประกอบกับ อย.ได้มีการประสานตรวจสอบข้อมูลกับสถานทูตนิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ขอแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดีที่สุด เพราะนอกจากปลอดภัย มีประโยชน์แล้ว ยังประหยัดอีกด้วย สำหรับนมสดที่ผลิตในประเทศ มีความปลอดภัย บริโภคได้ และขอให้ผู้บริโภควางใจในการดำเนินงานของ อย.ซึ่งจะเฝ้าระวังและติดตามข้อมูลจากทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งมีมาตรการในการกำกับดูแลและตรวจสอบผลิตภัณฑ์อาหารที่นำเข้าและจำหน่ายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความปลอดภัยแก่ผู้บริโภค

“นอกจากนี้ อย.ได้จัดทำเอกสารเผยแพร่ กรณีพบการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียในเวย์โปรตีนเข้มข้นจากหางนมของประเทศนิวซีแลนด์ ประกอบด้วยข้อมูลผลิตภัณฑ์นมของบริษัทที่ใช้เวย์โปรตีนที่ตรวจพบปัญหา ความรู้โปรตีนจากหางนม (whey protein) อาการของการได้รับเชื้อ คลอสตริเดียม โบทูลินัม เป็นต้น สนใจเข้าไปดูได้ในเว็บไซต์ อย.(www.fda.moph.go.th) หากพ่อแม่ผู้ปกครองสงสัยการบริโภคนมของบุตรหลาน สามารถสอบถามได้ที่สายด่วน อย.1556 หรือ สมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็กเล็ก โทร.0 2126 8104 หรือ ศูนย์แคร์ไลน์ของดูเม็กซ์ โทร.0 2740 3400 และ 0 2740 3333” เลขาธิการ อย.กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น