xs
xsm
sm
md
lg

เผด็จฤทธิ์ “โรคลมชัก” รักษาให้หายขาด/Health Line สายตรงสุขภาพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โรคลมชักนั้นสามารถเป็นได้ตั้งแต่เกิด มีความผิดปกติของสมองในด้านการเจริญเติบโต หรือเป็นภายหลังจากที่เริ่มโตหรือโตแล้ว นพ.สมจิตร ศรีอุดมขจร นายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือโรงพยาบาลเด็ก กล่าวว่า สาเหตุอาจจะมาจากการติดเชื้อในสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือเป็นไข้สมองอักเสบ อุบัติเหตุการกระทบกระเทือนทางศีรษะ หรือแม้กระทั่งการเจ็บปวดแบบฉับพลัน ท้องเสีย ไปจนถึงการผิดปกติอย่างฉับพลัน ก็ทำให้เป็นโรคลมชักได้

“อาการก็คือ ถ้าเพิ่งเป็นไม่มากนักก็อาจจะทำให้มีการเกร็งกระตุก ตาเหลือก ถ้าทำกิจกรรมต่างๆ เช่น ปีนที่สูง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ก็ทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงได้ แต่อาการชัก ถ้าชักระยะสั้นๆ มักจะไม่มีผลเสียอะไร แต่ถ้าชักบ่อยๆ หรือชักเป็นเวลานาน ก็อาจจะทำให้มีผลด้านการเรียนรู้ สติปัญญา อารมณ์ได้” น.พ.สมจิตร กล่าว

อาการชักมีได้หลายแบบ คนไทยเรียกอาการชักคือ อาการเกร็งกระตุก ตาเหลือก เราก็เรียกว่าอาการชัก ซึ่งอาจจะมีสาเหตุได้มากมาย แต่ก็มีอาการอื่นที่เป็นโรคลมชัก โดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอาการเกร็งกระตุกตาเหลือก เช่น ในเด็กเล็กๆ อายุสัก 2-3 เดือน ถึงอายุเป็นปี บางครั้งเด็กมาด้วยอาการสะดุ้ง นอนๆ อยู่ ร้องตื่นมาตกใจแล้วเกิดอาการชัก หรือในเด็กที่เป็นวัยเข้าโรงเรียน วัยประถม วัยอนุบาล นั่งเรียนหนังสือจะมีอาการเหม่อๆ ไม่สนใจเรียน ส่วนหนึ่งอาจจะมีสาเหตุจากเรื่องสมาธิสั้น แต่นั่นก็สามารถเป็นสัญญาณของโรคลมชักได้เช่นกัน

“วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น ถ้าเพิ่งเป็นโรคลมชักชนิดเกร็งกระตุกตาเหลือก พวกนี้ดูอันตรายที่เรียกว่าลมบ้าหมู ให้พยายามจับเด็กนอนราบ ถ้ายืนอยู่ ให้คนพยุงแล้วพยายามนอนราบกับพื้นเรียบๆ ที่ไม่แข็ง อย่ามีวัตถุอะไรแข็งๆ อยู่ใกล้ เพราะตอนนั้นเด็กไม่รู้ตัว จะไปดิ้นกระทบกระแทกได้ ของมีคมที่อยู่ใกล้ก็รีบเอาออก ลำดับต่อไป พยายามคลายเสื้อผ้าให้หลวม เพื่อให้อากาศถ่ายเท แล้วตะแคงใบหน้า อย่าให้มีน้ำลายไหลลงคอ แล้วสิ่งที่ไม่ควรกระทำก็คือ อย่าเอาอะไรใส่เข้าปาก เพราะกลัวเด็กจะกัดลิ้น ปกติเด็กจะไม่กัดลิ้น และส่วนใหญ่อาการชักมักจะไม่เกิน 5 นาที หลังการชัก เด็กอาจจะดูงงๆ อยู่ แต่ถ้าชักเกิน 5 นาที ให้พาไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด จะมีอยู่สักสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ที่จะชักนานเกิน 5 นาที ซึ่งอาจจะต้องใช้ยากันชัก”

แล้วเด็กที่เกิดภาวะชักบ่อยๆ มีโอกาสรักษาให้หายขาดได้ไหม คุณหมอบอกว่า ร้อยละเจ็ดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ของคนไข้โรคลมขักจะคุมได้ด้วยยา อีกประมาณสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ อาจจะต้องใช้ยาหลายตัว แต่อีก 5-10 เปอร์เซ็นต์ คุมไม่ได้ คนไข้ที่คุมได้ด้วยยากันชัก ถ้ากินยา 2 ปี ส่วนใหญ่จะหยุดยาได้ เพราะสามารถรักษาให้หายขาด แล้วก็ดำเนินชีวิตเป็นปกติได้

“สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่มีบุตรหลานเป็นโรคลมชัก การกินยาสม่ำเสมอ อย่าขาดยา และควรให้เด็กหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะกระตุ้นให้เกิดอาการชัก เช่น อดนอน นอนดึก เล่นเหนื่อยเกินไป เกมต่างๆ เล่นคอมพิวเตอร์นานเกิน โดยเฉพาะที่นานเกินชั่วโมงหนึ่ง ถ้าอยู่ในระหว่างเริ่มต้นรักษาโรคลมชัก กิจกรรมที่มีความเสียงที่จะทำให้เกิดอันตราย เช่น การปีนที่สูง การว่ายน้ำคนเดียว การขี่จักรยานออกไปข้างนอก ควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าคุมอาการลมชักไดัสักประมาณ6เดือน ปัจจัยพวกนี้ก็จะลดน้อยลงไปโดยอัตโนมัติ” นพ.สมจิตร กล่าว

ขอบคุณข้อมูล : รายการ “Health Line สายตรงสุขภาพ” รายการที่สร้างภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บ ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 7.00-8.00 น.ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี และสามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ www.manager.co.th/vdo


กำลังโหลดความคิดเห็น