xs
xsm
sm
md
lg

เรียนรู้ ..ป้องกัน..โรคมือ เท้า ปาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์

โรคมือเท้าปาก เป็นโรคระบาดที่พบได้ทุกปี โดยเฉพาะช่วงหน้าฝน อัตราการระบาดของโรคมักสูงขึ้นกับเด็กเล็กวัยต่ำกว่า 5 ขวบ

โดยปกติโรคนี้ไม่น่ากลัว และหายได้เองโดยไม่มีปัญหา อาการที่เห็นเด่นชัดคือ มีแผลร้อนในในปากและมีตุ่มน้ำใส หรือผื่นขึ้นที่บริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้า และอาจมีตามลำตัว บางรายอาจมีอาการท้องเสีย หรืออาการหวัดร่วมด้วย มักมีไข้ บางรายอาจไข้สูง ซึ่งโรคนี้มีโอกาสเกิดรุนแรงได้ แต่พบไม่บ่อย

หลังจากได้รับเชื้อ 3-6 วัน เด็กจะเริ่มมีไข้ต่ำๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน จะเจ็บปากจนไม่อยากรับประทานอาหาร เนื่องจากมีแผลในปาก เหงือก เพดานปาก กระพุ้งแก้ม และที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มักมีอาการมากอยู่ 2-3 วัน จากนั้นจะค่อยๆ ดีขึ้นจนหายภายใน 1 สัปดาห์ ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก แต่บางรายมีอาการมากจนรับประทานอาหารและน้ำไม่ได้ เกิดภาวะแห้งน้ำ จนต้องให้น้ำเหลือ

พ่อแม่ผู้ปกครอง สามารถสังเกตอาการของโรคนี้ได้ เช่น ในระยะแรกที่มีไข้ เจ็บปาก มีแผลในปาก มีผื่นขึ้นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปากจะคล้ายแผลร้อนในที่เรียกว่า แอฟทัส จะแตกต่างกันตรงที่แผลร้อนในทั่วไปจะไม่มีไข้ มีเพียง 1-2 แผล และไม่มีผื่นตามมือและเท้า ส่วนผื่นที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า อาจเป็นจุดแดงๆ หรือตุ่มน้ำใส ทำให้ดูคล้ายเป็นอีสุกอีใส ซึ่งถ้าเป็นอีสุกอีใสจะมีไข้และผื่นขึ้นตามตัวชัดเจน ผิดกับโรคมือ เท้า ปาก ที่จะมีผื่นตามตัวน้อยมาก จะมีผื่นเด่นที่ฝ่ามือ และฝ่าเท้า

ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงพบน้อยมาก ประมาณ 1 ใน 5,000-10,000 ราย ได้แก่ ภาวะก้านสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะน้ำท่วมปอด ภาวะหายใจล้มเหลว และระบบไหลเวียนล้มเหลว ภาวะรุนแรงเหล่านี้อาจทำให้เสียชีวิตได้ จนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถบอกได้ว่าผู้ป่วยรายใดจะมีภาวะรุนแรง จึงต้องสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในผู้ป่วยทุกราย หากมีอาการที่สงสัยว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ได้แก่ อาการซึมมาก อาเจียน กระตุก ชัก เกร็ง ตาลอย หอบ หมดสติ ควรรีบพบแพทย์ทันทีก่อนจะสายเกินแก้

การติดต่อหรือการแพร่ระบาดเกิดจากการติดเชื้อเอนเตอโรไวรัส ซึ่งอยู่ในน้ำลาย น้ำมูก อุจจาระ น้ำในตุ่มพองหรือแผลของผู้ป่วย เด็กอาจสัมผัสเชื้อโดยตรง หรือติดมากับมือ ของเล่น การไอ จาม การใช้ภาชนะในการรับประทานหรือดื่มร่วมกัน หรืออาจติดผ่านมือผู้ดูแลกรณีที่เด็กได้รับการเลี้ยงอยู่ร่วมกัน ซึ่งจะติดต่อกันได้ง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย และจะพบเชื้อในอุจจาระผู้ป่วยได้หลายสัปดาห์หลังจากที่เด็กเริ่มป่วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องแยกผู้ป่วยเด็กไม่ให้อยู่ร่วมกับเด็กปกติ และไม่ใช้ของเล่นร่วมกันก่อนจะทำความสะอาด

โรคมือเท้าปาก ยังไม่มีวัคซีนช่วยได้ แต่สามารถป้องกัน โดยแยกของเล่นที่อาจปนเปื้อนน้ำลาย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กอื่นรับเชื้อจากการเอาเข้าปาก หมั่นทำความสะอาดของเล่น และทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม สอนให้เด็กๆ ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและใช้ช้อนกลาง รวมทั้งให้ผู้ที่ดูแลเด็กล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนผ้าอ้อมหรือช่วยเด็กเข้าห้องน้ำ จะเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดค่ะ
------------

พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช
ชมพิพิธภัณฑ์สัมผัสเฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหา มหาราชินี
พิพิธภัณฑ์ศิริราช ร่วมกับ วิทยาลัยราชสุดา ม.มหิดล และโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยฯ ขอเชิญผู้พิการทางสายตาและผู้สนใจเข้าชมพิพิธภัณฑ์สัมผัส เฉลิมพระเกียรติ 12 สิงหา มหาราชินี สัมผัสโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าฯ ด้วยเทคนิคการจัดแสดงพิเศษ เพื่อผู้บกพร่องทางการเห็นโดยเฉพาะรวมถึงผู้มีสายตาปกติ เปิดให้ชมทั่วไป 10 ส.ค.นี้ เป็นต้นไป ณ ตึกอดุลยเดชวิกรม ชั้น 2 รพ.ศิริราช สอบถาม โทร.0 2419 2618-9


กำลังโหลดความคิดเห็น