xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.แนะใช้ กม.เครื่องมือแพทย์-สคบ.ควบคุมแพทย์ทางเลือก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ส.ว.แนะใช้ พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ควบคุม กำกับการแพทย์ทางเลือก ระหว่างไม่มีกฎหมายเฉพาะ ด้านกรมแพทย์แผนไทยฯชี้ กม.คุ้มครองผู้บริโภคแทบทุกฉบับ ไร้ตัวแทนจากแพทย์ทางเลือก ทำให้ขาดความรู้คัดกรอง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
นพ.จักรธรรม ธรรมศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กล่าวอภิปรายการคุ้มครองผู้บริโภคกับการแพทย์ทางเลือก ในงานสัมมนา “รักษาทางเลือก เรื่องจริงหรือค้ากำไร” จัดโดยคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ร่วมกับ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ว่า ปัจจุบันมีแพทย์ทางเลือกเกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการตรวจสอบ ควบคุมอย่างจริงจังเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้ โดยบทบาทของกรมควรส่งเสริมคุ้มครองการแพทย์แผนไทย ส่วนการแพทย์ทางเลือกต้องทำหน้าที่ควบคุม กำกับ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่กรมต้องส่งเสริมบทบาทในเรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการแพทย์ทางเลือกให้เข้มแข็ง

ช่วงที่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อควบคุมกำกับเรื่องแพทย์ทางเลือก สามารถใช้กลไกหน่วยงานหรือกฎหมายที่มีอยู่มาดูแลได้ เช่น พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 ที่กำหนดโดยรวมว่า เครื่องมือแพทย์ หมายถึงสิ่งที่ใช้ใส่เข้าไปในร่างกายมนุษย์หรือสัตว์ สำหรับใช้วินิจฉัย ป้องกัน ติดตาม บำบัด บรรเทา หรือรักษาโรคหรือการบาดเจ็บ รวมถึงการประคับประคองหรือช่วยชีวิต เป็นต้น รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มาใช้ก่อนได้” นพ.จักรธรรม กล่าวและว่า ก่อนที่หน่วยงานดังกล่าวจะสามารถชี้หรือฟันการแพทย์ทางเลือกใดจำเป็นต้องฟังความคิดเห็นจากผู้รู้ก่อน ซึ่งในที่นี้คือ สธ. อาจารย์ และนักวิชาการในส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ในเมืองไทยยังมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับการแพทย์ทางเลือกน้อยมากทำให้ตามไม่ทันกับสิ่งที่เข้ามาให้บริการประชาชน

นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวว่า หน้าที่หนึ่งของกรมฯคือ กำหนด พัฒนาคุณภาพ มาตรฐาน และเสนอแนะเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และการแพทย์ทางเลือก แต่กฎหมายเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคที่มีอยู่ราว 14 ฉบับ แบ่งเป็น 3 ด้านหลัก คือ ด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านสถานประกอบกิจการ และด้านผู้ประกอบวิชาชีพ ซึ่งเกือบทุกฉบับไม่มีการระบุให้ผู้แทนจากกรมฯเข้าร่วมเป็นกรรมการตามกฎหมาย ยกเว้นเพียง พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ และ พ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทยเท่านั้น ทำให้ขาดความรู้ที่จะคัดกรองในเรื่องการแพทย์ทางเลือกในส่วนที่ได้ผลมาใช้ประโยชน์ จึงมองว่าเป็นของผิดกฎหมายทั้งหมด ทั้งนี้ ระบบการแพทย์ทางเลือกที่ได้ผลและมีการใช้มากที่สุดของโลก คือ การแพทย์อายุรเวช การแพทย์แผนจีน การแพทย์โฮมีโอพาธีย์ การแพทย์ไคโรแพรคติก การแพทย์ยูนานิ และการแพทย์ธรรมชาติบำบัด


กำลังโหลดความคิดเห็น