รพ.ศิริราช เปิดตัวระบบส่งเลือดผ่านท่อลมขนาดเล็กความเร็วสูงแห่งแรกในเอเชีย รองรับบริการผู้ป่วยได้มากสุด 2,000 คนต่อวัน ใช้เวลาเคลื่อนที่ 7 เมตร/วินาที รวมเวลาในการส่งไปห้องแล็บเพื่อตรวจเลือดไม่ถึง 1 นาที ช่วยลดระยะเวลาการรอผล ยันสะอาด ปลอดภัย ไม่กระทบการแปรผลตรวจ
วันนี้ (5 ส.ค.) ที่ รพ.ศิริราช ผศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการ รพ.ศิริราช กล่าวในการแถลงข่าว “เปิดระบบปฏิบัติการเจาะ-ส่งเลือดครบวงจรด้วยท่อลมขนาดเล็ก ความเร็วสูงแห่งแรกในเอเชีย” ว่า แต่ละวัน รพ.ศิริราช มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณวันละ 5-6 พันคน ในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องเข้ารับการเจาะเลือดตามที่แพทย์ประเมินอาการวันละ 1,700-2,000 คน โดยผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมาแต่เช้ามืดเพื่อรอคิวการเจาะเลือด แต่เนื่องจากห้องเจาะเลือดที่ตึกผู้ป่วยนอกอยู่ห่างจากห้องปฏิบัติการประมาณ 450 เมตร จึงมีปัญหาการส่งเลือดล่าช้า เนื่องจากต้องใช้แรงงานคน ทำให้ผู้ป่วยต้องรอคิวนานร่วมวัน รพ.ศิริราช จึงใช้เครื่องท่อส่งลมดังกล่าวในการกระจายเลือด เพื่อย่นระยะเวลาให้เร็วขึ้นและผู้ป่วยไม่ต้องรอคิวนาน ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวนำเข้าจากเดนมาร์ก ประมาณ 4 ล้านบาท เบื้องต้นมีทั้งหมด 2 เครื่อง ความพิเศษอยู่ที่เครื่องดังกล่าวมีที่ศิริราชแห่งเดียวในเอเชีย จึงถือเป็นโรงพยาบาลแห่งแรกในเอเชียที่ใช้ระบบดังกล่าว โดยในยุโรปมีการใช้มาก่อนแล้ว
รศ.นพ.เชิดชัย นพมณีจำรัสเลิศ รอง ผอ.รพ.ศิริราช กล่าวว่า สำหรับเครื่องดังกล่าวเป็นท่อลมอัตโนมัติ ใช้แรงดันลมในการส่งหลอดเลือดต่อเนื่อง ผ่านท่อนำส่งขนาด 2.5 เซนติเมตร ที่สามารถทนต่อสารทำละลายต่างๆ ด้วยความเร็วเคลื่อนที่ 7 เมตรต่อวินาที มีอุปกรณ์ตรวจจับความไวที่สามารถบอกสถานการณ์ส่งและบอกจำนวนตัวอย่างที่ส่งผ่านท่อไปแล้ว และยังมีระบบทำความสะอาดภายในท่อ ซึ่งมั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยจริง ทั้งนี้ เครื่องดังกล่าวติดตั้งง่ายเพียงเวลา 3 สัปดาห์ ไม่มีปัญหาในเรื่องการหักเหของมุมตึก ซึ่งภายหลังจากติดตั้งเครื่องและท่อนำส่งเสร็จแล้ว ก่อนนำเครื่องดังกล่าวมาใช้ได้มีการทำวิจัยเพื่อทดสอบว่า การส่งเลือดด้วยวิธีดังกล่าวมีผลกระทบต่อการตรวจเลือดเพื่อแปรผลหรือไม่ ซึ่งจากการขอผู้ป่วยเจาะเลือดเพิ่มเติมเพื่อทำการวิจัยเทียบระหว่างการส่งแบบปกติและการส่งด้วยวิธีดังกล่าว จำนวน 60 ราย พบว่า ไม่มีความแตกต่างในการแปรผลการตรวจเลือด จึงนำเครื่องดังกล่าวมาใช้ในโรงพยาบาล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการทดสอบการส่งเลือดผ่านท่อลมขนาดเล็กจากตึกผู้ป่วยนอก ไปยังห้องปฏิบัติการระยะทาง 450 เมตร ใช้เวลารวมไม่เกิน 1 นาที