xs
xsm
sm
md
lg

3 ขั้นตอนสยบลูกพูดคำหยาบ/สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เชื่อแน่ว่าพ่อแม่ทุกคนคงเคยผ่านอาการตกใจเมื่อจู่ๆ ลูกน้อยที่สุดแสนจะน่ารักของเราพูดคำหยาบออกมาแบบจังเบ้อเร่อ สิ่งที่ตามมาก็คือคำถามจ้าละหวั่นว่าลูกไปเอามาจากไหน ?

เชื่อไหมว่า..จากสถิติส่วนใหญ่มาจากภายในบ้านค่ะ ลองสำรวจตัวเองว่าเราเคยเผลอพูดคำเหล่านั้นออกมาหรือเปล่า หรือผู้ใหญ่ภายในบ้านพูดหรือไม่ ถ้าแน่ใจว่าสมาชิกภายในบ้านสุภาพเรียบร้อย ระมัดระวังเรื่องการพูดจา ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจรับมาจากสื่อใดสื่อหนึ่งหรือไม่ ทีวี วิทยุ หรือแม้แต่หนังสือก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีวีที่มีรายการละครทั้งหลาย นั่นแหละค่ะตัวซึมซับคำพูด วาจาเสียดสี คำหยาบ และรวมไปถึงพฤติกรรมและท่าทางที่ไม่เหมาะสมมากมาย

ก่อนอื่นพ่อแม่อย่าเพิ่งตกใจ หรือโกรธเกรี้ยวที่ลูกพูดจาหยาบคาย หรือในทางตรงข้ามก็อย่าหัวเราะเห็นเป็นเรื่องขำ เพราะเด็กจะเข้าใจผิดคิดว่าพ่อแม่หรือผู้ปกครองชอบคำนั้นๆ แม้เราจะโมโห หรือไม่ชอบสิ่งที่เด็กพูด ก็ยังไม่ควรไปต่อว่าหรือดุด่าตำหนิในทันที แต่ควรจะตั้งสติ และลองใช้ขั้นตอนเหล่านี้

หนึ่ง หาที่มาว่าลูกได้ยินคำพูดนี้มาจากไหน

ในบ้าน

ถ้าได้ยินมาจากผู้ใหญ่ในบ้าน ก็ต้องยอมรับความจริงแม้คุณอาจไม่ได้ตั้งใจหรือเคยพูดแม้เพียงครั้งเดียว แต่โปรดเข้าใจว่าเด็กก็สามารถซึมซับประทับไว้ในสมองเรียบร้อยแล้ว ฉะนั้น ผู้พูดก็ต้องกล่าวคำว่าขอโทษ คราวหน้าจะไม่พูดอีก เป็นการสอนให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยว่าเป็นคำที่ไม่เหมาะสมไม่ควรพูด และเมื่อพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ในบ้านทำผิดพลาดแล้วก็เอ่ยคำว่าขอโทษ

โรงเรียน

แต่ถ้าลูกซึมซับมาจากที่โรงเรียน ก็อาจชวนพูดคุยต่อว่า จากเพื่อนคนไหน ทำกิจกรรมอะไรกันอยู่หรือถึงพูดคำนี้ขึ้นมา และก็บอกลูกว่าเป็นคำที่ไม่ไพเราะ คนพูดก็ดูไม่น่ารักเลย และชักชวนเขาอย่าพูดเลยดีกว่า

สื่อทีวี

ถ้าเป็นสื่อทีวีก็ต้องโทษพ่อแม่ล้วนๆ ที่ปล่อยให้ลูกอยู่หน้าทีวี เพราะรายการทีวีในบ้านเรา โดยเฉพาะในช่วงเวลาละครหลังข่าว มีละครที่มีเนื้อหาที่ใช้คำพูดหรือท่าทางต่างๆ ที่ถ้าเด็กได้ดูเป็นประจำก็จะเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้นแน่ๆ ทางที่ดีไม่ควรให้เขาดูทีวี โดยเฉพาะเด็กเล็ก ไม่เหมาะอย่างยิ่ง
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
สอง อธิบายคำหยาบนั้นหมายถึงอะไร

กรณีเป็นเด็กเล็กก็ต้องใช้คำพูดง่ายๆ กระชับ และมีท่าทีปกติ อย่าโกรธขึ้ง ถ้าเป็นเด็กโตที่เริ่มเข้าใจเหตุผล ก็สามารถแสดงให้ลูกรู้ด้วยท่าทีที่นุ่มนวลว่าพ่อแม่ไม่ชอบให้หนูพูดคำแบบนี้เลย และคนที่ได้ยินก็ไม่มีใครชอบด้วยแน่นอน

สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือการอธิบายให้เหมาะสมกับช่วงอายุของเด็ก ลูกจะได้ไม่ต้องเก็บสิ่งที่สงสัยไปถามคนอื่น คำอธิบายจะทำให้เด็กๆ พอใจ คลายความสงสัย และรู้เหตุผลว่าทำไมเขาไม่ควรพูดคำเหล่านั้น

จากนั้นควรสอนลูกว่าคำหยาบเป็นสิ่งไม่ดี อธิบายให้เขาฟังว่าคำหยาบทำให้คนฟังรู้สึกอย่างไร ถามลูกว่า ถ้ามีคนมาพูดหยาบคายกับเขา เขารู้สึกอย่างไร ไม่ชอบเหมือนกันใช่ไหม เป็นการสอนให้เขาเรียนรู้การเอาใจเขามาใส่ใจเราด้วย

กรณีที่เป็นวัยก่อนเข้าสู่วัยรุ่นหรือวัยรุ่น เขาหรือเธออาจจะมีคำศัพท์แสลงหรือคำพูดที่ไม่สุภาพประเภทมึง-กู ที่ใช้กับกลุ่มเพื่อน ก็สามารถผ่อนผันให้เขาได้บ้าง เพียงแต่ต้องมีข้อตกลงว่าให้ใช้เฉพาะในกลุ่มเพื่อนเท่านั้น ไม่ควรนำมาใช้ในบ้าน หรือนอกกลุ่มเพื่อน เพราะการห้ามไม่ให้เขาพูดเลยเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเขาก็ยังคงพูดอยู่ดี เพียงแต่เลี่ยงไม่ให้พ่อแม่ได้ยินเท่านั้น

สาม ถ้าอธิบายแล้วไม่ฟัง

กรณีที่อธิบายจนกระจ่างแล้วเด็กยังชอบพูดคำหยาบอีก คุณก็ควรมีกฎกติกาหรือข้อตกลงไว้เผื่อครั้งหน้าเลยว่า หากพูดคำหยาบแล้วจะเกิดผลอย่างไร เช่น โดนหักเงินค่าขนม หรืองดดูรายการโปรด ฯลฯ สุดแท้แต่ว่าบ้านไหนต้องการกำหนดอะไร เพราะต้องขึ้นอยู่กับตัวเด็กด้วย หรืออาจจะมีการเตือนไว้ก่อน ถ้ามีครั้งหน้าค่อยมีการลงโทษจากน้อยไปหามาก

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าเด็กบางคนอาจจะพูดเพราะสนุกปาก หรือเพื่อให้คนมองว่าเขาโตเป็นผู้ใหญ่และมีอำนาจ หรือพูดตามผู้ใหญ่ที่เขาใกล้ชิด หรือเขาพูดเพราะโมโหหรือโกรธเกรี้ยว หรือมีปัญหากับเพื่อนที่โรงเรียน ฯลฯ ถ้าผู้ใหญ่รู้ปัญหาก็สามารถแก้ไขให้ตรงจุด

จริงๆ แล้ว การพูดคำหยาบบ้างเป็นบางครั้งไม่ใช่เรื่องใหญ่โตถึงขนาดยอมความกันไม่ได้ เพียงแต่พ่อแม่ควรสร้างรากฐานให้ลูกเป็นเด็กที่พูดจาสุภาพเรียบร้อยมาตั้งแต่เล็ก ถ้าพ่อแม่เองหรือคนในบ้านระมัดระวังคำพูด และเป็นแบบอย่างที่ดีมาโดยตลอด ก็ช่วยได้ในระดับสำคัญแล้วล่ะค่ะ

เพียงแต่ปัจจุบัน เราก็ยอมรับว่าปัจจัยภายนอกมีส่วนสำคัญมากในการทำให้เด็กยุคนี้ใช้คำหยาบมากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะปัจจัยเสี่ยงจากภายในบ้าน สภาพสิ่งแวดล้อม หรือสื่อรอบตัวเท่านั้น ยังมีตัวอย่างในสังคมอีกมากมายที่ทำให้เด็กเห็นทั้งคำพูดและความรุนแรง ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่ถูกเรียกว่าผู้ทรงเกียรติ์ก็ยังใช้คำพูดหยาบคาย วาจาส่อเสียด และทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมให้เด็กเห็นตำตาอยู่บ่อยครั้ง

เด็กเชื่อและทำในสิ่งที่เห็นมากกว่าสิ่งที่พูดค่ะ
 

กำลังโหลดความคิดเห็น