วิจัยพบสารสกัด “กระชายดำ” จากเอทานอล 95% มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียก่อโรคในโรงพยาบาลสายพันธุ์ดื้อยา และมีฤทธิ์เสริมยาเซโฟซิตินในการต้านการเจริญของเชื้อตัวนี้ แนะผลิตเป็นสารต้านเชื้อแบคทีเรียนี้ได้
นายกีรติ จ้อยจำรัส นักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เสนอผลงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาฤทธิ์ต้านการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย สตาฟิโลค็อกคัส อูเรียส (Staphytococcus aureus) โดยสมุนไพรไทย” ในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์การแพทย์ ครั้งที่ 21 ว่า สตาฟิโลค็อกคัส อูเรียส เป็นสาเหตุสำคัญที่ก่อให้เกิดโรคติดเชื้อทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน ปัจจุบันมีรายงานว่าแบคทีเรียนี้มีอุบัติการณ์ดื้อยาหลายชนิดเพิ่มขึ้นมาก โดยชนิดที่สำคัญ คือ Methicilin resistant Staphylococcus aureus (MRSA) ทำให้ในการรักษาผู้ป่วยต้องได้รับยาปฏิชีวนะที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น การใช้สมุนไพรไทยจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่นำมาใช้ทดแทนยาปฏิชีวนะ
นายกีรติ กล่าวอีกว่า งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการต้านการเจริญของแบคทีเรีย สตาฟิโลค็อกคัส อูเรียส ด้วยสารสกัดจากสมุนไพรไทย และศึกษาการเสริมฤทธิ์ของสารสกัดจากสมุนไพรร่วมกับยาปฏิชีวนะในการต้านการเจริญของแบคทีเรียนี้ โดยศึกษาสมุนไพรไทย 11 ชนิด ได้แก่ เหงือกปลาหมอ เพชรสังฆาต กระชายดำ เสลดพังพอน หญ้าหนวดแมว ชะเอมเทศ หญ้าหวาน อัญชัน ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย และไพล ซึ่งสกัดด้วยน้ำและเอทานอล 95% จากนั้นจึงนำเอาสารสกัดมาทดสอบฤทธิ์การต้านการเจริญเติบโตของเชื้อดังกล่าว และทดสอบหาความเข้มข้นที่ต่ำสุดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อ (Minimal inhibitory concentration ;MIC)
“ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดจากสมุนไพรกระชายดำ สามารถยับยั้งการเจริญของเชื้อแบคทีเรียสายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาได้ แต่ไม่มีผลต่อการยับยั้งการเจริญของเชื้อ Methicilin sensitive Staphylococcus aureus (MSSA) ซึ่งเป็นเชื้อสตาฟิโลค็อกคัส อูเรียส อีกชนิด โดยแสดงขอบเขตการยับยั้งอยู่ในช่วง 12-18 มิลลิเมตร และมีค่า MIC เท่ากับ 0.0195 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร นอกจากนี้ เมื่อทดสอบสารสกัดจากกระชายดำร่วมกับยาปฏิชีวนะในการต้านการเจริญของเชื้อ MRSA พบว่าสารสกัดกระชายดำและยาเซโฟซิติน (cefoxitin) มีฤทธิ์เสริมกันในการต้านการเจริญของ MRSA โดยทำให้ค่า MICของกระชายดำ และ เซโฟซิติน (cefoxitin) ลดลง ซึ่งจากผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่ากระชายดำมีศักยภาพที่จะนำไปพัฒนาเป็นสารต้าน MRSAได้” นายกีรติ กล่าว